สสส.12พ.ค.-สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสห่วงใยนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สสส.-สพฐ. ร่วมกันพัฒนาชุดเครื่องมือการจัดการโรงเรียน ‘รับมือโควิด-19’ ส่งมอบรร.ตชด. ขณะที่ ผบช.ตชด. หวั่นการเรียนรู้นักเรียนหยุดชะงักเหตุเข้าไม่ถึงสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ พร้อมสั่งการโรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน
วันนี้ (12พ.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการส่งมอบชุดเครื่องมือการจัดการโรงเรียน “รับมือโควิด-19” โดยความร่วมมือของ สสส.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.)กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสห่วงใยนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ในช่วงที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ และมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการโครงการส่วนพระองค์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สพฐ.และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา จึงได้ข้อสรุปว่า ในช่วงวันที่16พ.ค.–30 มิ.ย.63 นักเรียนจะได้เรียนรู้อยู่กับบ้านด้วยสื่อการเรียนรู้ และบางโรงเรียนในพื้นที่ปลอดภัยอาจให้นักเรียนมาโรงเรียนเป็นบางวัน โดยจะต้องดำเนิน การตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สพฐ.จึงรับมอบหมายให้จัดหาสื่อความรู้และการดูแลสุขภาพเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สำหรับเป็นคู่มือครูและให้ความรู้กับนักเรียน ผู้ปกครอง จึงเกิดความร่วมมือกับ สสส. ในการจัดทำชุดคู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19 รวมถึงสื่อรณรงค์เพื่อให้ความรู้ในโรงเรียน เพื่อสนับสนุนให้กับโรงเรียน ตชด. ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนในวันที่ 18 พ.ค.นี้
พล.ต.ท.วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อการศึกษาไทยและเสียงสะท้อนจากโรงเรียนชายขอบ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่านักเรียนยากจน มีเพียง 57% ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงอาจเสียเปรียบการเข้าถึงการเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ปกครองไม่สามารถอบรมบุตรหลาน สอนการบ้าน หรือแม้แต่เรียนออนไลน์ได้ ซึ่งเด็กนักเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ดังนั้นการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้อาจหยุดชะงักลงจึงจำเป็นต้องครูตำรวจตระเวนชายแดนจึงเดินทางไปพบนักเรียนที่บ้านเพื่อสอนตัวต่อตัว
อย่างไรก็ตามจะมีนักเรียนส่วนหนึ่งมักมาโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนชายขอบจะเป็นจุดศูนย์รวมปลอดภัย เมื่อผู้ปกครองไม่อยู่บ้านมักให้นักเรียนมาโรงเรียน จึงสั่งการให้โรงเรียนดำเนินการจัดระบบคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กำชับไม่ให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มจัดเตรียมสถานที่ด้วยการเว้นระยะห่างทางกายภาพในห้องเรียน โรงอาหาร เตรียมอ่างล้างมือ และให้มีการนำสื่อ 60 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระราชทานให้ใช้กับโรงเรียนตชด.เพื่อสอนพิเศษให้กับนักเรียนในช่วงปิดเทอมตามความสมัครใจ สำหรับชุดเครื่องมือการจัดการโรงเรียนของ สสส. ที่ได้รับมอบนี้จะช่วยสนับสนุนการทำงานของครูในการเข้าถึงประชาชนในครัวเรือนได้มากยิ่งขึ้น
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สำหรับชุดเครื่องมือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19 ได้พัฒนามาจากการสอบถามความต้องการจากครูผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และความเป็นไปได้หากต้องนำไปปฏิบัติใช้จริง พร้อมกับรวบรวมองค์ความรู้จากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก จึงพัฒนาเป็นคู่มือการจัดการโรงเรียนสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา แม่ครัว ภารโรง นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับรวบรวมสื่อที่เกี่ยวข้อง เช่น โปสเตอร์รณรงค์ชีวิตวิถีใหม่ การล้างมือให้ห่างไกลโรค สติกเกอร์ระยะห่างทางกายภาพ รวมถึงสื่อนิทานโควิดเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างง่าย โดยชุดเครื่องมือการจัดการโรงเรียนจะส่งมอบให้กับโรงเรียน ตชด.ทั้ง 220 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับคู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19 สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/ .-สำนักข่าวไทย