29 ธ.ค. – อธิบดีราชทัณฑ์ คาด ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำได้ ม.ค.68 ชี้ความผิด ม.157 ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเข้าเกณฑ์ แต่โทษต้องไม่เกิน 4 ปี
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ครบกำหนดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 ตอนนี้กรมราชทัณฑ์กำลังประมวลความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมดที่ได้มีการเสนอเข้ามา และจะดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เสนอแนะ หลังปรับปรุงแก้ไขแล้วก็จะได้มีการพูดคุยกันภายในกรมราชทัณฑ์ เพื่อประกาศใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ได้เลย เนื่องจากเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องไปดำเนินการผ่านกระบวนการใดอีก ทั้งนี้ ทราบว่ามีผู้เข้ามาเสนอความคิดเห็นหลายร้อยราย
โดยราชทัณฑ์ต้องรับฟังทั้งในแง่ของนักวิชาการ ดูหลักสากลประกอบกันและรับฟังความคิดเห็น เพื่อได้มาถกกันในส่วนของคณะทำงานของราชทัณฑ์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อนมีการประกาศใช้ ซึ่งถ้าตนลงนามแล้วก็สามารถประกาศใช้ได้
นายสหการณ์ ยังกล่าวว่าในช่วงเดือน ม.ค.68 น่าจะใช้ได้ ส่วนจะมีกลุ่มผู้ต้องขังประเภทใดเข้าเกณฑ์บ้าง ตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ เพราะที่กำหนดไว้มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการจำแนก กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และกลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย หากสำรวจแล้วเสร็จจะมีการพิจารณาถึงสถานที่ที่จะใช้ในการคุมขังและระบบการดูแล แต่คงยังประกาศไม่ได้ว่าจะเป็น กลุ่มใดก่อน แต่เป็นไปได้ก็อยากทำทุกกลุ่มพร้อมกัน เมื่อหลักเกณฑ์ประกาศใช้ กรมราชทัณฑ์จะมอบหมายให้แต่ละเรือนจำทั่วประเทศรับไปดำเนินการ และให้พิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดมีคุณสมบัติ และสถานที่สำหรับคุมขังอื่นต้องรองรับ ถ้าเป็นสถานที่สำหรับติดกล้องวงจรปิดต้องเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยทุกด้าน หากเป็นบ้านพัก ก็ต้องมีการติดกล้องวงจรปิด ส่วนการติดกำไล EM หรือไม่ จะเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ ไม่ต้องเสนอต่อศาลว่าจะมีการติดกำไล EM บุคคลใด เพราะเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์อยากให้เข้าใจว่า หากเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด จะเป็นอำนาจการบริหารของกรมราชทัณฑ์ และยืนยันว่าผู้ต้องขังที่ไปคุมขังยังสถานที่อื่นก็ยังต้องโทษอยู่ แค่เปลี่ยนจากเรือนจำเป็นสถานที่คุมขังอื่นเท่านั้น ระบบการควบคุมดูแลปฏิบัติจะเสมือนอยู่ในเรือนจำ อาทิ การติดกล้องวงจรปิด มีการสื่อสารระหว่างเจ้าของสถานที่กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ และต้องมีการลงไปตรวจสอบพื้นที่เป็นระยะ ๆ รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่คุมขังอื่น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการหรือเอกชน ก็ต้องดูแลไม่ปล่อยให้ผู้ต้องขังหลบหนี หรือก่อเหตุ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าของสถานที่ก็จะต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ
ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ขังนอกเรือนจำอย่างคดี พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC จะไม่เข้าเงื่อนไขแน่นอน รวมทั้งคดีการก่อการร้าย คดีการจำหน่ายยาเสพติดในปริมาณมาก หรือผู้ค้ารายใหญ่ ส่วนผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนมากในเรือนจำ จะได้รับการพิจารณาเข้าเกณฑ์หรือไม่ จะต้องนำมาพิจารณาทั้งหมด เพราะในการพิจารณาจะมีกรรมการตั้งแต่ชั้นเรือนจำ จนมาถึงกรรมการชั้นกรมราชทัณฑ์ ที่มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน และก็ต้องมีการเสนออธิบดีกรมราชทัณฑ์ พิจารณาอีกครั้ง
ต่อข้อถามถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดำเนินคดี ม.157 นายสหการณ์ กล่าวว่า ความผิด 157 ไม่อยู่ในข้อยกเว้น แต่ประเด็นดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาทั้งในชั้นกรรมการเรือนจำ และกรรมการระดับกรมราชทัณฑ์
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าหากดูข้อมูลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เหลืออัตราโทษจำคุก 5 ปี หากมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย แล้วอาจเหลือโทษน้อยลง หรือได้รับการลดโทษ จะเข้าเงื่อนไขโทษต่ำ 4 ปี สำหรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ นายสหการณ์ เเจงว่า เงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้คือมีอัตราโทษไม่เกิน 4 ปี หรือมีคำพิพากษาจากศาลไม่เกิน 4 ปี ก็จะเข้าเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายเข้ามาที่กรมราชทัณฑ์ เนื่องด้วยเจ้าตัวยังไม่ได้เข้ามาอยู่ที่เรือนจำ แต่หากเข้ามาที่เรือนจำจึงจะยื่นขออภัยโทษได้.-119-สำนักข่าวไทย