กทม. 7 พ.ค. – ระหว่างที่อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิด-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95 และชุด Coverall ยังมีจำกัด ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ผลิตระบบฆ่าเชื้อด้วยไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์ขึ้น สามารถฆ่าเชื้อรียูสอุปกรณ์ป้องกันโควิดกลับมาใช้ใหม่ได้ มากถึงวันละ 2,000 ชิ้น
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำแผ่นผ้าที่หยอดเชื้อสปอร์ของแบคทีเรีย และโคโรนาไวรัสในหมู ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเชื้อโควิด-19 ระดับความเข้มข้น 100 ล้าน Cfu ไปติดที่แขน ขา เอว และรักแร้ ของชุด Coverall ซึ่งเป็นจุดที่มีเหงื่อออกมาก และมีความชื้นสูง ก่อนฉีดเหงื่อเทียมซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเหงื่อจริง จำลองเสมือนว่าชุด Coverall นี้ได้ผ่านการใช้งานจากบุคลากรทางการแพทย์มาแล้ว
จากนั้นนำไปแขวนในห้องความดันลบที่จำลองขึ้น ซึ่งมีการติดตั้งเทคโนโลยีเครื่องพ่นไอระเหยของไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และเครื่องระบายแก๊ส เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เปิดระบบฆ่าเชื้อด้วยไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 250-300 PPM เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และปล่อยทิ้งไว้อีก 2 ชั่วโมง เพื่อระบายแก๊สออก
จากนั้นนักวิจัยจะเข้าไปเก็บแผ่นผ้าที่ได้หยอดเชื้อติดไว้ในส่วนต่างๆ ของชุด Coverall ไปบ่มเชื้อในอาหารเลี้ยงแบคทีเรียอีก 1 วัน ปรากฏว่าไม่พบเชื้อแบคทีเรียและไวรัสหลงเหลืออยู่อีก เช่นเดียวกับการทดลองในหน้ากาก N95 ทั้ง 10 รอบ ที่ให้ผลออกมาเหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพเส้นใยผ้าและวัสดุภายในยังคงใช้ป้องกันโรคได้เหมือนเดิม
การรียูสอุปกรณ์ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีระบบฆ่าเชื้อด้วยไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นวิธีการที่ฆ่าเชื้อโรคได้ดี และมีต้นทุนการดำเนินงานต่อครั้งที่ต่ำ ค่าสารเคมีไม่เกิน 2 บาทต่อชิ้น และสามารถฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ได้มากกว่า 1,000 ชิ้นต่อครั้ง โดยที่วัสดุไม่เสื่อมสภาพ เป็นระบบที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงโควิด-19 ระบาดในสหรัฐมาแล้ว มีข้อมูลว่าเขาใช้ระบบนี้ฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 รียูสกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้ถึง 20 ครั้ง นี่จึงเป็นอีกทางเลือกช่วยแก้ปัญหาอุปกรณ์ป้องกันขาดแคลนให้กับบุคลากรทางการแพทย์
ทีมนักวิจัย มจธ. ซึ่งทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาจากหลายสถาบัน เตรียมนำระบบฆ่าเชื้อด้วยไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์ไปติดตั้งในห้องความดันลบที่ตึกอุบัติเหตุโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นแห่งแรกในช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่งจะรองรับการฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ได้ถึง 2,000 ชิ้นต่อวัน และชุด Coverall ได้อีก 150 ชุดต่อวัน ล่าสุดมีหลายโรงพยาบาล เช่น ที่ขอนแก่น แจ้งขอความอนุเคราะห์นำระบบนี้ไปใช้ร่วมกันทั้งจังหวัด มาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งจะเป็นตัวกลางประสานแหล่งทุนจากภาครัฐและเอกชน จัดซื้ออุปกรณ์และนำระบบไปติดตั้งให้ สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลอื่นๆ ที่สนใจ ก็สามารถขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางนี้ได้เช่นกัน. – สำนักข่าวไทย