กรุงเทพฯ 22 เม.ย. – “ชาญศิลป์” พบสื่อ ก่อนอำลำตำแหน่งซีอีโอ ปตท.คนที่ 9 ระบุสิ่งที่เสียใจสุด คือ คดีทุจริตในองค์กร “ปาล์ม- โรลส์-รอยซ์” จะย้ำในบอร์ด 30 เม.ย.วางแนวทางป้องกันทุจริตในอนาคต เชื่อมั่นซีอีโอคนใหม่สานต่องานไม่สะดุด ย้ำ ปตท.สนับสนุนต้านโควิด-19 ทุกแนวทาง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดใจก่อนอำลาตำแหน่งในวันที่ 12 พฤษภาคม ว่า สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุด คือ การเป็นพนักงาน ปตท.มา 38 ปี และร่วมทำงานด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ ปตท.แข็งแกร่ง ได้รับรางวัลจำนวนมาก แต่สิ่งที่รู้สึกเสียใจที่สุด คือ เรื่องทุจริต ที่มีอดีตพนักงานร่วมกับนักการเมืองบางคนและคนภายนอก เช่น คดีปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ,การจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แม้ยังไม่มีการพิพากษา และมีผลที่ชัดเจน ก็เป็นบทเรียนที่ต้องระวังต่อไป โดยจะพูดเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นนัดสุดท้ายที่เข้าร่วมประชุม
“ส่วนการส่งไม้ต่อให้กับนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ เชื่อมั่นงานไม่สะดุด เพราะ ปตท.ทำงานกันเป็นทีมเวิร์คอยู่แล้ว เชื่อว่าจะมาขับเคลื่อนสานต่อกลยุทธ์การลงทุนที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันอยู่แล้ว โดยนับจากนี้ไปเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น หลังโควิด-19 รวมทั้งธุรกิจไฟฟ้า ความมั่นคงของรัฐ เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีแผนงานที่ทำร่วมกันไว้แล้ว” นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ (New Normal) สำหรับการตัดสินใจซื้อสินค้าในอนาคต ซึ่งกลุ่ม ปตท.ต้องติดตามและปรับแผนให้เหมาะสมในอนาคต โดยพฤติกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น คือ การใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้นทั้งการทำงานที่บ้าน การสั่งซื้อสินค้า ประชาชนจะให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพ เวชศาสตร์แห่งการชะลอวัย สินค้าอาหาร การค้าปลีก ซึ่งสินค้าด้านสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลุ่ม ปตท.ได้ร่วมมือสู้ภัยโควิด-19 โดยดำเนินการหลายด้านอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ระดมสรรพกำลังความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานแก่บุคลากรทางการแพทย์ ในด้านงานวิจัย พัฒนา จัดหา และผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ มีงานสำคัญเร่งด่วน อาทิ การสนับสนุนเสื้อกาวน์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกของกลุ่ม ปตท. พร้อมมอบผ้าสปันบอนด์เคลือบสารกันน้ำและสารคัดหลั่ง สำหรับผลิตเป็นชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE การผลิตหมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR การผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อ การพัฒนาห้องตรวจวินิจฉัยโรคแบบป้องกันเชื้อ การผลิตกล่องป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย สำหรับกระทำหัตถการของบุคลากรทางการแพทย์ การผลิตและสนับสนุน Face Shield และการร่วมสนับสนุนของภาคีเครือข่าย การมอบแอลกอฮอล์ และกลุ่ม ปตท.ยังอยู่ระหว่างพัฒนาอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์และดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี กลุ่ม ปตท.จึงตั้ง “คณะกรรมการกิจการเพื่อสังคม กลุ่ม ปตท. เพื่อสู้ภัย COVID-19” เพื่อผลักดันการดำเนินงานสำคัญครั้งนี้เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นและร่วมกันดำเนินภารกิจให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติจริงสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป. -สำนักข่าวไทย