กรมการแพทย์ 21 เม.ย.-กรมการแพทย์ ร่วมกับเอสซีจี พัฒนานวัตกรรมห้องคัดกรองตรวจผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 และนวัตกรรมชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ พร้อมสร้างระบบดูแลผู้ป่วย “แยกโรคและเก็บกักเชื้อ” รวดเร็ว-มีประสิทธิภาพ เริ่มใช้แล้วแห่งแรกที่ รพ.ราชวิถี
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย มีประชาชนเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก กรมการแพทย์มีความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรการและกระบวนการป้องกันการติดเชื้อ ตลอดจนตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจติดเชื้อจากการให้บริการ การตรวจ หรือการรักษาพยาบาล
โดยรพ.ราชวิถีถือเป็นหน่วยงานหลักของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการรับดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมที่รพ.ราชวิถี พัฒนาร่วมกับเอสซีจีทำให้สามารถสร้างระบบการดูแลผู้ป่วย “แยกโรคและเก็บกักเชื้อ” ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์อย่างสูงในการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่หรือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการตรวจที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ(ARI Clinic)ของโรงพยาบาล ประมาณ 100–150 คนต่อวัน จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทีมแพทย์โรงพยาบาลร่วมกับเอสซีจีคิดค้นนวัตกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับสถานการณ์มาใช้ภายในเวลาอันสั้น อีกทั้งสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย อาทิ ห้องคัดกรองตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ติดตั้งโดยใช้ระยะเวลา 2 วัน
เป็นห้องที่แยกออกจากตัวอาคารของโรงพยาบาลด้วยระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของคุณภาพอากาศที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่มีระบบการป้องกันอากาศรั่วไหลไม่ให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายออกสู่ภายนอก อีกทั้งยังมีการใช้แสงยูวีเข้มข้นสูงฆ่าเชื้อโรคต่างๆ หลังการใช้งานห้องทุกครั้ง
สำหรับนวัตกรรมชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ ได้แก่ ห้อง ICU แยกผู้ป่วยความดันลบ เป็นห้องที่แพทย์และพยาบาลสามารถทำการรักษาผู้ป่วยหนักได้ทันที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ ทำงานด้วยระบบความดันลบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก , ห้องตรวจเชื้อความดันลบ เป็นห้องตรวจเคลื่อนที่ที่ช่วยให้ทีมแพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือผ่านมือยางเข้าไปทำหัตถการกับผู้ป่วยได้ โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งภายในห้องควบคุมแรงดันอากาศให้เป็นได้ทั้งลบหรือบวก
นอกจากนวัตกรรมหลักทั้ง 3 ชนิดที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานแล้ว ยังมีแคปซูลเคลื่อนย้ายความดันลบ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และอุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อป้องกันเชื้อสำหรับงานทันตกรรม ที่ออกแบบมาเพื่อลดการสัมผัสละอองน้ำที่ฟุ้งกระจายขณะที่ทีมแพทย์ปฏิบัติงานอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย