สำนักข่าวไทย 7เม.ย.-หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ เผยสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ส่วนใหญ่กลับจากต่างประเทศ ย้ำมาตรการกักตัว 14 วันต้องปฏิบัติ เพื่อไม่ส่งต่อเชื้อคนรอบข้าง ยกตัวอย่างกรณีศึกษาลูกสาวกลับจากต่างประเทศไม่กักตัวเพราะไม่มีอาการ แต่สุดท้ายแม่ที่อยู่ในบ้านเดียวกันได้รับเชื้อและป่วยโควิด-19
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยถึง การส่งผ่านเชื้อโควิด-19 ไปยังคนรอบข้างเกิดขึ้นได้ง่าย หากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่ยอมปฎิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข คือการกักดูอาการตัวเอง 14 วัน โดยในโพสต์ได้ยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง ซึ่งลูกสาวเดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่ไม่ยอมกักตัว เพราะคิดว่าไม่มีอาการ จนกระทั่งเชื้อโควิด-19 ได้ลามติดไปยังคุณแม่ โดยระบุไว้ว่า
“การติดต่อของโรคโควิดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เดิมเคยเชื่อว่าการติดต่อเกิดหลังจากที่คนไข้มีอาการแล้วเหมือนโรค SARS แต่ข้อมูลในปัจจุบันเชื้อไวรัสนี้อาจติดต่อผ่านได้จากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือก่อนที่จะมีอาการ(asymptomatic transmission และ presymptomatic transmission) ดังนั้นหากกลับมาจากต่างประเทศแม้ว่าไม่มีความผิดปกติอะไรเลย ควรกักตัวอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน อย่าเข้าใจว่าไม่มีอาการคือไม่ติดเชื้อ
เคสคุณป้าคนหนึ่งอยู่บ้านสบายดี ติดเชื้อโควิดจากลูกสาวที่เดินทางมาจากต่างประเทศแต่ไม่ระวังเรื่องการกักตัว เพราะคิดว่าตัวเองยังไม่มีอาการไม่น่าป่วย เลยไปอยู่ด้วยกันตามปกติ แต่แยกตัวออกไปหลังจากที่ลูกสาวเริ่มมีอาการเหมือนเป็นหวัด แต่ก็ไม่ทันการ วันที่มาตรวจคุณป้ามีอาการคล้ายเป็นหวัดมา 6 วัน เอกซเรย์ปอดยังปกติ อีกวันถัดมาอาการปอดอักเสบชัดขึ้น คนไข้หายใจเหนื่อยจนระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็วและใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ายเข้าห้องไอซียู คนไข้อาการหนักมาก เข้าใจความรู้สึกของลูกที่รู้ทีหลังว่าแม่ตัวเองต้องมานอนไอซียูเพราะไม่ระวังเรื่องการกักตัว
ต้องรู้นะครับว่า เราอาจจะทำให้คนในครอบครัวที่เรารักป่วยจากความไม่เข้าใจและไม่มีระเบียบวินัย หากกลับมาจากต่างประเทศต้องกักตัว จนครบ 14 วันครับ เพราะหลังจาก 14 วัน แม้ว่าติดเชื้อจะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้น้อย อาจจะทำยากแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะเคสใหม่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นเคสที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ”. -สำนักข่าวไทย