กรุงเทพฯ 3 เม.ย. – EIC ปรับลดจีดีพีปี 63 ติดลบ 5.6% ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง หลังเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย มาตรการปิดเมืองของหลายประเทศรวมทั้งไทย ส่งผลต่อการส่งออกปีนี้ติดลบ 12.9% และนักท่องเที่ยวคาดว่าจะติดลบถึง 67%
นายยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2563 เป็นติดลบ 5.6% ซึ่งต่ำสุดนับจากวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงมากขึ้น โดย EIC มองว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย คาดจีดีพีโลกปีนี้จะติดลบ 2.1% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 ขณะที่มาตรการปิดเมืองของหลายประเทศรวมทั้งไทย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและราคาน้ำมันโลกลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยปีนี้หดตัวมากขึ้นเป็นลบ 12.9% จากเดิมคาดว่าจะลบ 5.8% และตัวเลขนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงมากโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 และจะฟื้นตัวล่าช้า โดยคาดว่านักท่องเที่ยวมาไทยปีนี้จะลดลงเหลือ 13.1 ล้านคน ติดลบ 67% จากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดเมือง (lockdown) หลายเมืองสำคัญของไทย ซึ่งเป็นมาตรการ social distancing ที่จำเป็นเพื่อลดการสูญเสียของชีวิตผู้คนและการสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวม แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย EIC คาดว่าจากมาตรการปิดเมืองที่มีระยะเวลา 1 เดือน การบริโภคภาคเอกชนจะลดลงและทำให้จีดีพีไทยปี 2563 หายไปประมาณลบ 0.6%
ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้มีบทบาทสำคัญในการประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อแรงงานและภาคธุรกิจ โดย EIC เชื่อว่าระยะต่อไปภาครัฐจะเร่งออกมาตรการการคลัง เพื่อชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้จากโควิด-19 ทั้งการโอนเงินให้กับผู้ถูกกระทบ 3 ล้านคน และการเพิ่มวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทบได้มากขึ้น ผ่านการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการอัดฉีดเงินให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดและประคับประคองเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ EIC ได้ใส่สมมติฐานวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาทในการประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้แล้ว .- สำนักข่าวไทย