ทำเนียบฯ 3 เม.ย.-โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ไม่อยากใช้ยาแรง หากประชาชนให้ความร่วมมือลดการแพร่เชื้อโควิด-19 พร้อมเตรียมประเมินมาตรการเคอร์ฟิวทุกวัน จนครบ 1 สัปดาห์ หากตัวเลขผู้ป่วยยังพุ่ง อาจใช้เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล ห้ามประชาชนออกจากบ้าน ในเวลา 22.00-04.00 น. ซึ่งมีผลวันนี้ (3 เม.ย.) นั้น ถือเป็นข้อกำหนดฉบับที่ 2 ในการประกาศตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังมีข้อกำหนดฉบับที่ 1 ออกมา ก่อนหน้านี้แล้วให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ แต่ยังพบว่าประชาชนยังทำกิจกรรมรวมตัวกัน ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บางจังหวัดผู้ว่าราชการได้ใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามประชาชนออกจากเคหสถานไปบ้างแล้ว จึงนำมาสู่ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.). ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะประกาศสำหรับทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมโรคให้ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นที่หลักร้อยทุกวัน ซึ่งรัฐบาลไม่อยากใช้ยาแรง แต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเช่นนี้ เพื่อลดการรวมกลุ่มของประชาชน ทั้งนี้จะมีการประเมินข้อกำหนดที่ประกาศล่าสุดนี้ทุกวัน ตลอด 1 สัปดาห์ หากมีตัวเลขผู้ป่วยยังเพิ่ม มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาประกาศเคอร์ฟิว ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากตัวเลขลดลง อาจจะคงหรือผ่อนคลายมาตรการ
“นายกรัฐมนตรีไม่อยากใช้ยาแรงหากได้รับความร่วมมือกับประชาชน โดยเฉพาะ การเคลื่อนที่ให้น้อยที่สุด อย่าออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น โดยให้ทำงานที่บ้าน และแม้จะอยู่บ้านแล้ว ก็ต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่รณรงค์กันในขณะนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนอย่างจริงใจ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่” นางนฤมล กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีเข้าใจดีว่ายังมีความจำเป็นสำหรับบุคคลบางกลุ่มที่ยังต้องออกมาทำงานในช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานทางด้านการแพทย์ การธนาคาร ขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ผลผลิตทางการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ หนังสือพิมพ์ น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุภัณฑ์ หรือกลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ เพียงแต่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีเอกสารรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ถึงความจำเป็นในการเดินทาง ส่วนคนที่เจ็บป่วย ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน ส่วนคนที่ไม่มีเหตุจำเป็นแต่ยังออกจากเคหสถาน ก็มีโทษตามที่กำหนดไว้.-สำนักข่าวไทย