ทำเนียบฯ 1 เม.ย.-กทม.ประกาศปิด ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีห้า เพื่อให้เวลาทำความสะอาด ปิดสวนสาธารณะทั้งหมดใน กทม. ทั้งรัฐและเอกชน เริ่มพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) – 30 เม.ย. ย้ำไม่ประกาศเคอร์ฟิว เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจ
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงมาตรการ กทม.ในสถานการณ์โควิด-19 ว่า งานทะเบียนของ กทม.ได้งดให้บริการงานทะเบียนบางเรื่อง โดยจะเปิดให้บริการงานทะเบียน 5 บริการ ดังนี้ การแจ้งการเกิด-การตาย การตรวจคัดรับรองสำเนาทะเบียนราษฎร์ การตรวจคัดรับรองสำเนาทะเบียนบัตร การจดทะเบียนสมรส และการจดทะเบียนหย่า โดยให้บริการในเวลาราชการ 08.00 น.-16.00 น. วันจันทร์ถึงศุกร์ งดให้บริการในวันหยุดราชการ ยกเว้นการแจ้งเกิดและการแจ้งตาย และถ้าหากมีกรณีเร่งด่วนทางสำนักงานเขตจะพิจารณาให้บริการเป็นรายกรณีไป
โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ ทาง กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนเก่าที่หมดอายุ ได้ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ส่วนกรณีที่บัตรประชาชนตัวประชาชนหายสามารถไปขอคัดสำเนาบัตรเก่า กับสำนักงานเขตใกล้บ้านมาใช้ก่อนเป็นการชั่วคราว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.ได้พิจารณายกเว้นค่าแผงสำหรับผู้เช่าแผงค้า ผู้เช่าห้องสุขา และ ผู้เช่าพื้นที่จอดรถภายในตลาดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดเมืองมีน ตลาดธนบุรี ตลาดเทวราช ตลาดประชานิเวศน์1 ตลาดหนองจอก ตลาดบางกะปิ ตลาดพระวงเวียนเล็ก ตลาดรัชดาภิเษก ตลาดสิงหา และตลาดราษฎร์บูรณะ โดยจะยกเว้นค่าเช่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ
ในส่วนของตลาดนัดจตุจักร เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ทาง กทม. ดูแล แต่ได้รับสัญญาเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย กทม.จะทำหนังสือไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการขอยกเว้นค่าเช่าให้กับผู้เช่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่ง กทม. คาดว่าทางการรถไฟฯ จะให้ความร่วมมือในการยกเว้นค่าเช่า
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ยังมีผลสรุปการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อว่า จะควบคุมเวลาเปิดร้านสะดวกซื้อทุกประเภท ร้านในลักษณะเดียวกันกับร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำพวก 7-11 , Family mart หรือร้านโชห่วย ที่ให้ปิด ตั้งแต่ 00.00-05.00 น. เช่นเดียวกับร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทุกประเภทที่อยู่ในคูหา รถเข็น หรือแผงลอย ขอให้ทุกร้านปิดบริการเวลา 00.00-05.00 น. เท่านั้น และให้มีเวลาทำความสะอาดร้านอย่างเคร่งครัดในช่วงเวลาที่ปิดร้าน
โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งปิดสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ทั้งของ กทม. เอกชน หรือสวนสาธารณะตามคอนโด ก็จำเป็นต้องปิดตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) ถึงวันที่ 30 เมษายน เนื่องจากยังเป็นสถานที่ที่ใช้รวมคนได้ ทั้งการกินข้าว และการออกกำลังกาย เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด
“สวนใหญ่ ๆ ทั่ว กทม.ที่อยู่ในความดูแลของกองสวนสาธารณะ 39 แห่ง และตามสำนักงานเขตอีก 52 แห่ง รวม 91 แห่ง จะสั่งปิดทั้งหมด เพราะทีผ่านมาแม้จะสั่งปิดโซนสวนเด็กเล่น และฟิตเนส ให้เปิดแต่ลู่วิ่งแต่ก็ยังพบการรวมกลุ่มของคนหมู่มากซึ่งถือเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงจะสั่งการไปถึงสวนหย่อม สวนสาธารณะในหมู่บ้าน และคอนโด จะให้ปิดบริการด้วย ขอให้เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้(2 เม.ย.) หากมีคำถามหรือข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน กทม. 1555” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร จะหารือกับรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่โดยเร็วที่สุด และทุกสถานที่ที่ได้ปิดไปจะประเมินตลอด หากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ชี้ว่าสถานที่เหล่านี้สามารถเปิดได้แล้วและสถิติผู้ติดเชื้อน้อยลง ก็จะมีการพิจารณาเปิดสถานที่ให้เร็วที่สุด จึงขอความร่วมมือทุกคนให้เข้าใจและดำเงินการตามมาตรการของกรุงเทพมหานครด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวกรุงเทพมหานคร เตรียมล็อคดาวน์กรุงเทพฯ ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า มาตรการล็อคดาวน์ คือ การที่ไม่ให้ผู้คนออกนอกบ้าน จนถึงตอนนี้ในคณะผู้บริหารยังไม่มีการพูดคุยในประเด็นนี้ รวมถึงเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวด้วย ตามประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กทม.ไม่มีอำนาจตัดสินใจ เรื่องนี้ต้องพูดคุยกับทางรัฐบาล ที่ทำงานภายใต้ศูนย์ ศบค. สิ่งที่เห็นในจังหวัดอื่น ๆ หากอ่านให้ละเอียดจะเป็นการขอความร่วมมือประชาชน ไม่ให้ออกนอกบ้านตามเวลาที่กำหนด ตามประกาศที่ กทม.ได้ออกไปก่อนหน้านี้ กทม.ก็ได้ทำในลักษณะดังกล่าว คือ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนออกนอกบ้าน ลดการเดินทางให้น้อยที่สุดมาตลอด .-สำนักข่าวไทย