กรุงเทพฯ 7 มี.ค.-จับตา ที่ประชุม ค.ร.ม. จะผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือ Covid-19 อย่างไร กสิกรไทย คาดเงินบาทเคลื่อนไหว 31.20-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,355 และ 1,335 จุด แนวต้าน 1,380 และ 1,400 จุด
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงาน ว่า ในสัปดาห์นี้ (2-6 มี.ค.) แม้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นปลายสัปดาห์ แต่ภาพรวมทั้งสัปดาห์ยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค) ประกอบกับมีปัจจัยกดดันในระหว่างสัปดาห์จากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและสามารถฟื้นตัวขึ้นได้บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ0.50 แบบฉุกเฉินนอกรอบการประชุมตามวาระปกติ
นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับอานิสงส์จากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับทิศทางก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (6 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 ก.พ.)
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยลดช่วงบวกปลายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์นี้ ดัชนี SET ยังเพิ่มขึ้น ร้อยละ1.79 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ระดับ 1,364.57 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64,402.74 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ21.77 จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น ร้อยละ2.90 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 269.34 จุด
โดยหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา ขานรับการทยอยปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงการเตรียมพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อลดผลกระทบของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจีนมีสัญญาณรุนแรงมากขึ้น ซึ่งกระตุ้นความกังวลต่อการชะลอตัวของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทย
สัปดาห์ถัดไป (9-13 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.20-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,355 และ 1,335 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,380 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ครม. และสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ.ของจีน -สำนักข่าวไทย