ทำเนียบฯ 6 มี.ค. – ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการเยียวยา ลดผลกระทบไวรัสโควิด-19 ย้ำโอนเงินช่วยเหลือรายย่อยช่วงสั้นเดือนละ 1 พันบาท เพียง 2 เดือน เริ่ม เม.ย.นี้ ย้ำช่วยเหลือทุกกลุ่มทั้งเติมสภาพคล่อง ยืดเวลาชำระหนี้ หักลดหย่อนภาษี นำกองทุน SSF พยุงตลาดหุ้น ยอมรับใช้เวลาดูแลปัญหาช่วงแรก 6 เดือน
ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 จากนั้นเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพื่อใช้เป็นมาตรการชั่วคราว 2-3 เดือนนี้ หวังดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม และพร้อมโอนผ่านพร้อมเพย์ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มเดือนเมษายนนี้ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ เพราะต่างประเทศช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเหมือนกัน การลดภาระค่าไฟฟ้า น้ำประปา เป็นรายเดือนในช่วงเวลากำหนด นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายช่วยกันฟันฝ่าปัญหาครั้งนี้ไปให้ได้ ช่วงแรกจึงต้องออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือและพร้อมใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดหลายประเทศทั่วโลกส่งผลกระทบหลายกลุ่มทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ ไม่ใช่เพียงด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลหารือกับทุกฝ่ายอย่างระมัดระวัง เมื่อออกมาตรการชุดแรกไปแล้วจะประเมินผล หากเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย พร้อมออกมาตรการชุดใหม่มาดูแลเพิ่มเติม ยอมรับการโอนเงินช่วยเหลือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของมาตรการทั้งหมด ขณะนี้ต้องใช้ทุกมาตรการดูแลทุกส่วน ยอมรับว่าปัญหาครั้งนี้แพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก จึงสร้างปัญหาเกิดขึ้นกับไทย
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลเป็นห่วงดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงค่อนข้างมากจากหลายปัจจัยเข้ามากระทบ แนวทางช่วยเหลือที่ผ่านมาจะใช้กองทุนพยุงหุ้น แต่ครั้งนี้พร้อมดูแลตลาดหุ้นด้วยการแก้ไขกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ปรับเงื่อนไขให้เหมือนกับกองทุน LTF ที่เคยให้สิทธิ์รายย่อยซื้อหน่วยลงทุนลดหย่อนภาษี 500,000 บาทต่อปี เพื่อเป็นกำลังหลักเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยกองทุน SSF 17 แห่ง เตรียมเปิดจำหน่ายต้องลงทุนในหลักทรัพย์ตลาดหุ้นไทยมากกว่าร้อยละ 65 ของเงินกองทุน หลัง ครม.เห็นชอบต้องลงทุนก่อนเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อพยุงตลาดหุ้นไทย ยอมรับว่าต้องตั้งรับสถานการณ์ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อใช้มาตรการอื่นเข้ามาดูแลเพิ่มเติม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 ได้แก่ มาตรการทางการเงิน เพื่อบรรเทาดูแลผู้ประกอบการ การลดภาระต้นทุน บรรเทาไม่ให้มีการเลิกจ้างงาน การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากสินเชื่อซอฟท์โลน โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อแบงก์รัฐ และธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 จากนั้นปล่อยกู้ต่อให้รายย่อยร้อยละ 2 โดยมีธนาคารพาณิชย์พร้อมเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก เพื่อลดการผ่อนชำระรายเดือน ทั้งพักเงินต้น และขยายเวลาชำระหนี้ให้ยาวขึ้น ตลอดจนปัญหาหนี้ส่วนบุคคล หากมีปัญหาหนี้บัตรเครดิตชำระร้อยละ 5 ของวงเงินค้าง จากเดิมชำระขั้นต่ำร้อยละ 10
สำหรับมาตรการภาษี หากผู้ประกอบการจ้างงานต่อ เพื่อการลดปัญหาตกงาน สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้นำค่าใช้จ่ายจ้างงานหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 3 เท่า นับตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อดูแลพนักงานลูกจ้าง รวมถึงการเร่งรัดคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการนิติบุคคลในประเทศ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียน ตลอดจนการลดการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับรายย่อย ภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นช่วงนี้ยังหักลดหย่อนภาษีได้ และขอให้หลายหน่วยงานลดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนเพื่อผ่อนคลายให้กับเอกชน และการให้เอกชนชะลอนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในกิจการ นอกจากนี้ ยังแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุน เพื่อให้งบประมาณปี 2563 ออกสู่ระบบเร็วขึ้น และยังได้หารือกับสำนักงบประมาณจัดตั้งกองทุนรองรับปัญหาฉุกเฉิน หากสถานการณ์ดีขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินดังกล่าวได้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ครอบคลุมผลกระทบจากปลายปี 2562 ทั้งลูกหนี้ NPL และลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหา จึงกำหนดให้ย้อนหลังถึง 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2564 เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารเจรจาลดชำระหนี้เงินต้นและขยายเวลาชำระดอกเบี้ยให้นานขึ้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขานุการนายกรัฐมตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจห่วงปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก หลังจากได้รับปัจจัยลบทั้งงบประมาณปี 2563 ออกสู่ระบบล่าช้า สงครามทางการค้า การส่งออกชะลอตัว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงคาดการณ์เศรษฐกิจมีปัญหาร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก ยอมรับจีดีพีไตรมากแรกอาจไม่ดีเหมือนไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงไตรมาส 2 เงินลงทุนภาครัฐเริ่มขับเคลื่อนออกสู่ระบบ แต่การท่องเที่ยวยังย่ำแย่ จากนั้นค่อยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมภายหลัง ช่วงนี้จึงต้องช่วยลดภาระค่าเช่าแผงลอย ร้านค้าของพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย และการขับเคลื่อนมาตรการอื่นเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย