ทำเนียบรัฐบาล 2 มี.ค.-“อนุทิน” ขออุปทูตจีนช่วยคุยรัฐบาลพิจารณาขายยาต้านไวรัสโควิด – 19 เป็นกรณีพิเศษให้ไทย แต่ยืนยันมียารักษาเพียงพอ หากไม่ระบาดมากกว่านี้ นายกฯ เตรียมประกาศแผนบูรณาการรับมือโควิด -19 แต่ไม่ใช่ยกระดับระยะ 3
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังต้อนรับนายหยาง ซิน อุปทูตจีนประจำประเทศไทย ว่า ได้ขอให้ช่วยเจรจากับผู้ผลิตยาที่ได้ลิขสิทธิ์ผลิตยารักษาไวรัสโควิด- 19 ที่มีสรรพคุณใช้ได้ดีกับผู้ป่วย เพื่อให้ทางการไทยสามารถซื้อยาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากขณะนี้ทางการจีนไม่อนุญาตให้ขายยานอกประเทศ และยาที่ซื้อส่วนใหญ่จะนำมารักษาคนจีนที่ป่วยอยู่ในไทยกว่าครึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมได้ซื้อยานี้มาได้จำนวนหนึ่ง โดยใช้ความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตยาด้วยกัน จึงนำเข้ามาได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“ส่วนกระแสข่าวไทยไม่มียารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเพราะยาของไทยที่ผลิตเองสามารถใช้ยับยั้งอาการได้ ขณะนี้ไทยมียาเพียงพอกับการรักษาอาการให้หายได้ หากไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากกว่านี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการรักษาในช่วงที่ผ่านมา ไทยมีความมั่นใจมากขึ้น จากผู้ป่วย 43 ราย กลับบ้านได้ 28 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 14 คน เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งสาเหตุยังไม่แน่ชัดว่าเสียชีวิตเกิดจากไวรัสโควิด 19 หรือไม่ ต้องรอพิสูจน์ทางการแพทย์ และในผู้ป่วย 43 ราย 2 ใน 3 รักษาหายโดยใช้ยาที่มีอยู่ในประเทศ เพราะปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่เป็นยาประคองอาการ ทำให้ผู้ป่วยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อไวรัสและหายป่วย
“ผู้ที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) รักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 หายแล้ว แต่มีอาการป่วยจากโรคอื่นประกอบ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับโรคนี้ได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าไทยมียาเพียงพอที่จะรักษาการติดเชื้อโควิด -19 ได้” นายอนุทิน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้(2 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประกาศแผนบูรณาการป้องกันและรับมือโควิด -19 ยังไม่ใช่การประกาศยกระดับเข้าสู่ระยะที่ 3 เพราะยังไม่มีการแพร่ติดต่อกันเองของคนสู่คนในประเทศในลักษณะที่เป็นคนหมู่มาก ขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 2 โดยการกำหนดระยะเป็นการกำหนดขึ้นมาเอง สำคัญที่สุดต้องมียารักษาผู้ป่วย มีบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลเพียงพอ
“ส่วนมาตรการป้องกันดูแลตนเอง ขอให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด ถ้าป่วย ให้สวมหน้ากากอนามัย ส่วนปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย สามารถใช้หน้ากากผ้าแทนได้ เพราะเป็นการป้องกันการสัมผัสเท่านั้น หากต้องการป้องกันจริงต้องปิดทั้งหน้า ซึ่งสถานการณ์ยังไม่ถึงขนาดนั้น และหากทุกคนร่วมมือกันใช้หน้ากากผ้า การกักตุนหน้ากากอนามัยจะปล่อยสินค้าออกมาขายเอง อีกทั้งการใช้หน้ากากอนามัยต้องคำนึงถึงการกำจัดว่าจะเป็นสะสมเป็นเชื้อโรค” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนกรณีนักวิชาการด้านการแพทย์ของสหรัฐฯ ระบุว่าผู้ที่ไม่ป่วยแล้วใส่หน้ากากจะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารรณสุข กล่าวว่า จะให้ทางกรมควบคุมโรคเป็นผู้ชี้แจง ซึ่งตนเห็นด้วยหากไม่ป่วยก็ไม่ควรใช้ แต่ควรให้ใช้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือเมื่อเข้าไปสู่พื้นที่แออัด.-สำนักข่าวไทย