กทม. 28 ก.พ. – ข้อสงสัยว่าถ้าติดเชื้อโควิด-19 แล้วกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ในต่างประเทศที่ตรวจพบเชื้อในบุคคลเดิม ที่ไทยก็มีผู้ป่วยหญิงชาวจีนที่รักษาจนตรวจไม่พบเชื้อกลับมาพบซ้ำอีก ส่วนคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ จะสามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้หรือไม่ หาคำตอบจากรายงาน
หลังจากเริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาจนหาย กลับมาตรวจพบเชื้ออีกครั้ง ทั้งในจีนและญี่ป่น ทำให้มีการตั้งคำถามว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่ามีผู้ป่วยในลักษณะคล้ายกันในไทย โดยเป็นผู้ป่วยหญิงชาวจีนเข้ารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร จนหาย จากนั้นได้เดินทางกลับไปประเทศจีน พบว่ามีอาการไข้ และเมื่อเข้าตรวจคัดกรองพบว่าผลตรวจเป็นลบ มีเชื้อโควิด-19 และไม่ถือเป็นการติดเชื้อใหม่
การตรวจเจอเชื้ออาจเป็นไปได้ทั้งเชื้อที่ตายแล้ว หรือเชื้อที่ยังมีชิวีตอยู่สามารถติดต่อได้ แต่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจเลี้ยงเชื้อนานมากกว่าจะทราบ แต่โอกาสที่จะพบผู้ป่วยลักษณะนี้น้อยมากเพียง 0.1-0.2% จึงไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเชื้อ เนื่องจากมาตรการการเฝ้าระวังของไทยขณะนี้อยู่ในระดับจัดการปัญหาได้ดี
สอดคล้องกับศาตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่โพสต์เฟชบุ๊กว่า เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิต้านทานขึ้น เหมือนฉีดวัคซีน จะป้องกันการติดเชื้อใหม่ ส่วนใหญ่ที่เป็นแล้วเป็นอีกไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่โควิด-19 พันธุกรรมไม่ได้กลายพันธุ์เหมือนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยหายจากโควิด-19 จะมากลับมาเป็นอีกจึงน้อยมาก อาจแค่ 1 ในหมื่นคน หรือ 1 ในแสนคน
อีกประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยคือ คนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ จะสามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า ปกติคนกลุ่มนี้จะตรวจไม่พบ เพราะไม่มีอาการ ที่ตรวจพบเนื่องจากเมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อ จึงต้องมีการสอบสวนโรค ตรวจหาเชื้อจากผู้สัมผัส และติดตามจนครบ 14 วัน คนกลุ่มนี้ก็อาจไม่มีอาการเลยจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งโอกาสการแพร่เชื่อเป็นไปได้แต่น้อยมาก หากรักษาสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็เพียงพอ
แม้จะมีการตั้งประเด็นว่าระยะฟักตัวของเชื้อโควิด-19 ในบางคนอาจมากถึง 28 วัน แต่ไทยยังยึดหลักเกณฑ์ระยะฟักตัวอยู่ที่ 14 วัน ตามเกณฑ์ของตามองค์การอนามัยโลก เนื่องจากระยะ 28 วัน ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์. – สำนักข่าวไทย