กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – “มนัญญา” เดินหน้าออกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมวิธีการผลิต 3 สารเคมีวัตถุอันตราย ยันต้องได้มาตรฐาน ISO มีห้องแลปตรวจค่าตกค้างความเป็นพิษ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มอบหมายให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเตรียมนำร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการผลิตวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป แต่ขณะนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่ได้นัดหมายการประชุมครั้งต่อไปว่าจะมีขึ้นเมื่อใด
น.ส. มนัญญา กล่าวว่า เมื่อยังไม่มีการแบนไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต จึงหามาตรการสร้างกลไกถาวร เพื่อพัฒนาการผลิตสารเคมีเกษตรที่มีคุณภาพ ความเป็นพิษต่ำตามมาตรฐานสากล ซึ่งสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ดังกล่าว คือ สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มีห้องปฏิบัติการได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตรายจากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย สำหรับสถานที่ผลิตที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว จะให้เวลาปรับปรุงแก้ไข 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ ซึ่งผู้ประกอบการผลิตจัดทำการผลิตวัตถุอันตรายแต่ละครั้งต้องมีคิวอาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์ด้วย
ทั้งนี้ จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2563 ปรากฏว่า มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน เห็นด้วย 9,590 คน คิดเป็น 93.49% มีเพียง 668 คน คิดเป็น 6.51 % ที่ไม่เห็นด้วย 2 โดยผู้เห็นด้วยให้เหตุผลว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตความปลอดภัยของประชาชนดีขึ้น ใช้สารเคมีเกษตรที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐาน โรงงานสารเคมีเกษตรมีหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกัน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ไม่เห็นไม่เห็นด้วยระบุว่าการทำ ISO เป็นการเพิ่มภาระและต้นทุนการผลิต ซึ่งท้ายที่สุดเป็นการผลักภาระให้เกษตรกรต้องซื้อสารเคมีการเกษตรแพงขึ้น การดำเนินการถูกจำกัดด้วยเวลา โดยระยะเวลา 2 ปีปรับตัวไม่ทัน ปัจจุบันมีโรงงานผลิตวัตถุอันตราย 143 โรง มีผู้ผลิต/ผู้นำเข้า 105 ราย จากการตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตรผู้ประกอบการที่มีสตอก 3 สารเหลือ 44 ราย
ในวันนี้ (20 ก.พ.) เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรนำร่างประกาศดังกล่าวยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อบรรจุในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายด่วนที่สุด ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมและพิจารณาเห็นชอบหลักการของร่าง และส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองตรวจพิจารณาร่างประกาศฯ ต่อไป
น.ส.มนัญญา กล่าวถึงการแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ให้แบนวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ ว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีประกาศเรื่องนี้ ดังนั้น มติวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 จึงยังไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ปัจจุบันพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตจึงเป็นวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ 4 ฉบับ ลงวันที่ 5 เมษายน 2562 ว่าด้วยการจำกัดการใช้พาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสและไกลโฟเซต ซึ่งกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขาย ซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต กำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขายไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต เกษตรกรใช้ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอตต้องผ่านการอบรมและต้องใช้กับพืช และพื้นที่ตามที่แสดงหลักฐานไว้ ผู้มีไว้ครอบครองเพื่อขายต้องจัดให้มีบุคลากรเฉพาะ ต้องจัดวางแยกออกจากวัตถุอันตรายอื่น ต้องมีป้ายแสดง “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” อย่างชัดเจน และต้องขายให้เฉพาะกับผู้ซื้อที่ผ่านการฝึกอบรม ตลอดจนแสดงหลักฐาน ชนิดพืช และพื้นที่ปลูกท่านั้น กำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้าต้องแสดงข้อความ“วัตถุอันตรายจำกัดการใช้” ขนาดไม่เล็กกว่าชื่อการค้า รวมถึงต้องจัดให้มีภาชนะบรรจุที่ปิดได้สนิท แข็งแรง และป้องกันการรั่วซึม
“กำลังรอรายงานจากกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับประกาศกระทรวงเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. … ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว โดยจะต้องรายงานมายังกระทรวงเกษตรฯ ว่า ดำเนินการไปถึงไหนและอย่างไร” น.ส.มนัญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย