ภูมิภาค 9 ม.ค.-ภัยแล้งรุกหนัก! บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แห้งขอด เหลือน้ำต่ำเกินครึ่ง ส่วน จ.นครพนม น้ำโขงแห้งกระทบน้ำใต้ดิน มณฑลทหารบกที่ 210 เร่งเจาะบาดาลช่วยพื้นที่ขาดน้ำ ด้าน จ.บุรีรัมย์ แหล่งผลิตน้ำประปาแห้งขอด หลายร้อยครอบครัวเดือดร้อน
ตรวจสอบสถานการณ์น้ำบึงบอระเพ็ด ภายในส่วนหน่วยบริหารจัดการประมงน้ำจืดบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีประตูทางเชื่อมเพื่อรับน้ำจากแม่น้ำน่านไหล พบว่ามีน้ำไหลเข้าน้อย ประกอบกับเกษตรกรโดยรอบบึงสูบน้ำไปใช้ทางการเกษตร ทำให้บึงบอระเพ็ดน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดสันดอนทรายหลายแห่ง ปริมาณน้ำภายในลดลงเหลืออยู่ที่ 73.60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 40.89 หากมีพื้นที่น้ำต่ำกว่านี้จะเริ่มกระทบกับระบบนิเวศ
ที่จังหวัดนครพนม แม่น้ำโขงแห้งขอด มีระดับต่ำเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1 เมตร ต่ำสุดในรอบ 50 ปี ส่งผลให้ลำน้ำสาขา ได้แก่ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ มีปริมาณน้ำน้อย ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยมณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม ได้รับงบประมาณจากจังหวัด เร่งสำรวจดำเนินโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลให้ชุมชนที่ประสบความเดือดร้อนแล้วกว่า 100 จุด โดยในปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการต่อเนื่อง
จังหวัดหนองคาย ประสบปัญหาแม่น้ำโขงระดับน้ำต่ำสุดในรอบหลายสิบปีเช่นกัน ที่ริมตลิ่งเขตตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย มีเกษตรกรลงทุนปลูกพืชหลายชนิด เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ กำลังเดือดร้อน ต้องต่อท่อลงไปเพื่อดูดน้ำมาใช้ไกลขึ้น บางรายต่อท่อไกลกว่า 1 กิโลเมตร
ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สระน้ำเนื้อที่กว่า 100 ไร่ แหล่งผลิตประปาหล่อเลี้ยง 4 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านหัววัว หมู่ 4, บ้านหนองขาย่าง หมู่ 6, บ้านสนวน หมู่ 14 และบ้านสำโรง หมู่ 15 ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง แห้งขอดจนเห็นดินแตกระแหง ไม่มีน้ำ ชาวบ้านกว่า 900 ครัวเรือน เดือดร้อนหนัก ต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภค อีกทั้งบาดาลของหมู่บ้านก็ไม่เพียงพอ ต้องเปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา ในของส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด แม้จะนำรถบรรทุกน้ำมาแจกจ่ายบ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ
ทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 2 ชุด พร้อมบินทำฝนทั่วประเทศ หากพบบริเวณใดมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้บินขึ้นปฏิบัติการทันที เติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าไม้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี โดยก่อนหน้านี้เนื่องจากจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมค่าความเค็มของน้ำที่สถานีสำแล จังหวัดปทุมธานี ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำและการผลิตน้ำประปาในพื้นที่
ทั้งนี้ ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำมโนรมย์ สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก วันละ 1.30 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับน้ำที่ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ตามปกติ คาดว่าเพียงพอแก้ปัญหา.-สำนักข่าวไทย