นนทบุรี 19 ธ.ค. – อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำหนด 4 กลยุทธ์ ผลักดันส่งออกเชิงรุกปี 63 เตรียมเดินหน้าขยายการส่งออกเจาะเป็นรายตลาด นำทีมโดยเซลส์แมนประเทศ มั่นใจปีหน้ายอดส่งออกเป็นบวก
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการไทยปี 2563 ว่า กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมี 4 กลยุทธ์หลัก เพื่อเร่งรัดการส่งออกเชิงรุก คือ 1.การพัฒนาช่องทางตลาด 2.การพัฒนาผู้ประกอบการ 3.การพัฒนาสินค้า/ธุรกิจบริการ และ 4.การพัฒนาระบบให้บริการภายในองค์กร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยปีนี้จะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้าสหรัฐกับจีน ผลกระทบในกลุ่มสหภาพยุโรป ความวุ่นวายการชุมนุมของฮ่องกง ปัญหาความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาท ความผันผวนราคาน้ำมัน ทำให้การส่งออกปีนี้ไม่ค่อยจะดี แต่ปีหน้าคงจะต้องติดตามปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะสงครามการค้าสหรัฐกับจีนจบลงด้วยดี เชื่อว่าโอกาสตัวเลขการส่งออกของไทยน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่จะมากหรือน้อยแค่ไหน กรมฯ จะจัดประชุมทูตพาณิชย์ เพื่อรับนโยบายการปฏิบัติงานในช่วงงาน Bangkok Gems & Jewelry เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยจะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนสาขาต่าง ๆ เพื่อประเมินการส่งออกร่วมกัน รวมทั้งประเมินทิศทางการส่งออกแต่ละตลาด ก่อนที่จะนำผลสรุปมาจัดทำเป้าหมายการส่งออกของประเทศที่ชัดเจนอีกครั้ง
นายสมเด็จ กล่าวว่า เพื่อเตรียมแผนดำเนินการปีหน้า ด้านการพัฒนาช่องทางตลาด จะจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปขยายตลาด ได้แก่ ตลาดเดิม (จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป) ตลาดใหม่ (อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังคลาเทศ แอฟริกาใต้) ตลาดฟื้นฟู (ตะวันออกกลาง) โดยจะเจาะตลาดลงลึกรายมณฑล รายรัฐในตลาดที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะนำทีมโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะ “เซลส์แมนประเทศ” และมีผู้ประกอบการในสาขาต่าง ๆ เข้าร่วม
ส่วนช่องทางการขยายตลาดอื่น ๆ จะเน้นจัดกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้าและนักธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อสร้างความต้องการสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทย ขยายความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าที่ผ่านการบ่มเพาะจากกรมฯ ขยายร้าน TOPTHAI Flagship Store เพิ่มเติม เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยในจีน และจะขยายบนแพลตฟอร์มในตลาดอื่น ๆ อาทิ Bigbasket (อินเดีย) Amazon.com (สหรัฐ) Amazon.jp (ญี่ปุ่น) และ Presto Mall (มาเลเซีย) เป็นต้น จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ (Online In-Store Promotion) รวมทั้งยกระดับงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศสู่การเป็นงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจยิ่งขึ้น อาทิ STYLE/ BGJF/ THAIFEX-ANUGA ASIA เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการ จะผลักดันกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ให้เป็นผู้ส่งออก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม Start up กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่ม Niche และยังมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษา (Co-course) จัดทำหลักสูตรการศึกษาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การส่งออก การเจรจาธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่จะก้าวมาเป็นผู้ส่งออกรุ่นใหม่ รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสร้างผู้ช่วยขายออนไลน์ ร่วมกับสถาบันปัญญาภิวัฒน์ สร้างนักค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ
ด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าและธุรกิจบริการ จะเน้นการสร้างแบรนด์ประเทศไทยผ่านตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพต่าง ๆ ได้แก่ TMark / DEMark / PM-Award / Thai Select / ELMA อย่างต่อเนื่อง บ่มเพาะแบรนด์ไทย รุกตลาด Luxury-Premium ในตลาดเป้าหมาย อาทิ จีน อินเดีย อาเซียน โดยจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบออนไลน์ ส่งเสริมธุรกิจบริการศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ดิจิทัลคอนเทนท์ จะเชิญ Animator/Cartoon Creator ชาวไทยในบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ ธุรกิจบริการสุขภาพ จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่ง สธ. อยู่ระหว่างเสนอให้มีการตรวจลงตราประเภท Medical Visa ชนิดใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง คราวละไม่เกิน 1 ปี ธุรกิจ Start up จะบ่มเพาะผู้ประกอบการ และขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมาย อาทิ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ธุรกิจโลจิสติกส์ จะร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ในต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์และธุรกิจสนับสนุนและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะจัดคณะเดินทางและเข้าร่วมงานแสดงในต่างประเทศ สร้างโอกาสและต่อยอดธุรกิจของไทยสู่ตลาดโลก ด้านการพัฒนาภายในองค์กร ระบบให้บริการ จะพัฒนาฐานข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อยอด DITP Business AI ให้มีประสิทธิภาพ เน้นให้สามารถใช้งานง่าย ขยายขอบเขตและความหลากหลายของฐานข้อมูล ทันต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ส่งผลให้การตัดสินใจของผู้ส่งออกมีความแม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยมากยิ่งขึ้น .-สำนักข่าวไทย