กรุงเทพฯ 13 ธ.ค.-ทีมข่าว สำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณสะพานข้ามแยกคลองตัน หลังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ทีมข่าว สำนักข่าวไทยพาไปดูสภาพเส้นทางบนสะพานข้ามแยกคลองตัน หากวิ่งจากฝั่งถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มุ่งหน้าไปถนนพัฒนาการ เมื่อขับขึ้นมาจะเป็นทางตรงประมาณ 150 เมตร จากนั้นจะเจอทางโค้งลักษณะเกือบๆ จะหักศอก บนสะพานทันที จุดนี้เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ศพแล้วศพเล่า จากการสังเกตพบว่าบนถนนมีการทำสัญลักษณ์ทั้งทาสีแดงกันลื่นและมีสัญลักษณ์เตือนว่า “ระวังทางโค้ง” ซึ่งนอกจากสะพานที่เป็นลักษณะโค้งแล้ว ตำรวจบอกว่าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถ้าสังเกตดู เป็นถนนทางตรง ไล่มาตั้งแต่แยกราชเทวี มาแยกอโศกเพชร ทองหล่อ เอกมัย มุ่งหน้ามาถึงคลองตัน เป็นทางตรงยาว เพราะฉะนั้นกลางคืน รถจักรยานยนต์จะชอบมาก
ทีมข่าว สำนักข่าวไทย สำรวจพบว่าก่อนทางขึ้นสะพานจะมีป้ายห้ามรถจักรยานยนต์ รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป รถสามล้อ รถเข็น ห้ามขึ้นสะพาน แต่ก็ยังพบว่ามีรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืน จากที่ทีมข่าวฯ เฝ้าสังเกตการณ์ในช่วงเวลา 12.00-13.00 น. พบว่ามีรถจักรยานยนต์ลักลอบขึ้นสะพาน เฉลี่ย 1 นาที 2 คัน ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ยอมรับว่า ขึ้นสะพานข้ามแยกคลองตันเป็นประจำ เพราะไม่ต้องติดไฟแดงที่แยกคลองตัน สามารถทำเวลาได้ ส่วนอันตรายบนสะพาน ไม่กังวลเพราะชำนาญเส้นทาง แต่ยอมรับว่าหากใครที่ไม่รู้เส้นทาง เมื่อขับมาเจอโค้งอาจเกิดอันตรายได้
ทีมข่าว สำนักข่าวไทย สอบถามกับ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ดูแลเรื่องการจราจร ถึงการบังคับใช้กฎหมายป้องกันรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานคลองตันว่า หากพบรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ เข้าข่ายความผิดฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร อัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ปัจจุบัน ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองกลุ่มรถจักรยานยนต์ ทำให้จราจรไม่ได้เข้มงวดการจับกุมในช่วงนี้ พร้อมฝากถึงกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายที่บังคับใช้ คำนึงถึงชีวิตของผู้ขับขี่เป็นหลัก
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย สอบถามไปยังสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เจ้าของพื้นที่ และเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ ได้พูดคุยกับนายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนัการโยธา รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักการโยธา ให้ข้อมูลว่า การออกแบบถนนหนทางในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน จะออกแบบให้เหมาะสมที่สุด และเข้ากับลักษณะกายภาพที่มีข้อจำกัดของพื้นที่นั้นๆ มากที่สุด อย่างเช่นสะพานข้ามแยกคลองตัน ก็ผ่านการคิดคำนวนรูปแบบและความเร็วมาเป็นอย่างดีจากทีมวิศวกร รถทุกคันจะปลอดภัยที่สุดหากปฏิบัติตามที่ระบุ คือ สะพานนี้อนุญาตเฉพาะรถยนต์ ไม่ให้รถจักรยานยนต์ขึ้นไปใช้ ส่วนความเร็วก็มีป้ายบอกชัดเจนว่าให้ใช้ความเร็วที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากขับในความเร็วที่กำหนดจะไม่เป็นอันตรายเลย
ซึ่งหลังเกิดเหตุบ่อยครั้ง กรุงเทพมหานครก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามขีดสี ตีเส้น ทำเครื่องหมายเตือนทางโค้ง ความเร็วที่ควรใช้ ทั้งก่อนขึ้นสะพาน ทางขึ้นสะพาน และบนสะพานก็มีบอกตลอด เพื่อให้ผู้ใช้รถเห็นและปฏิบัติตามได้มากที่สุด ส่วนที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปรับปรุงลักษณะสะพานที่มีความคดโค้งเสี่ยงอันตราย คงทำไม่ได้ อยากให้ลองคิดดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสะพาน หรือ คน ที่ฝ่าฝืนไม่ทำตามระเบียบ เพราะทุกอย่างที่ถูกกำหนดขึ้นมา ทำภายใต้กฎหมายจราจร ไม่ใช่แค่จุดนี้ที่เป็นปัญหา สะพาน 5 แยกลาดพร้าว จุดที่จะข้ามไปฝั่งพหลโยธิน ก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะเป็นเส้นทางเกือบหักศอก จุดนั้นมีป้ายกำหนดบอกไว้ชัดเจนว่า ใช้ความเร็วได้แค่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็มีรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนขึ้นไปวิ่ง ใช้ความเร็วเกิน ได้รับอุบัติเหตุ และมีการฟ้องร้อง แต่ศาลก็ตัดสินให้กรุงเทพมหานครชนะ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างถูกต้อง
พร้อมยืนยันด้วยว่า จนถึงขณะนี้ไม่ได้มีการประสานจากตำรวจจราจร บช.น. ให้มีการอนุโลมให้รถจักรยานยนต์ใช้สะพานเพื่อสัญจรตามที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน จึงอยากฝากไปยังผู้ใช้รถใช้ถนนขอให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด.-สำนักข่าวไทย