กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – ชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลเคลื่อนพลประท้วงหน้ากระทรวงเกษตรฯ ลั่นไม่ยอมแก้ปัญหาเรื้อรัง ชี้ปักหลักยาวข้ามช่วงปีใหม่ ไม่ยอมกลับจนกว่าจะได้ข้อยุติเป็นที่พอใจ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชุมร่วมกับสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) และสมาคมประมงจังหวัดชายทะเลมีมติจะชุมนุมสาธารณะที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาภาคการประมงหลายประการ โดยตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาหน่วยราชการต่าง ๆ ได้ออกกฎ ระเบียบ ประกาศและมาตรการต่าง ๆ บังคับใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง ตลอดจนธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งที่ปัจจุบันไทยได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) แล้ว แต่ยังมีการออกกฎระเบียบเพิ่มเติมที่สร้างปัญหาใหม่อีก เช่น บังคับให้ชาวประมงชำระค่าน้ำมันผ่านระบบฟรีทการ์ด ซึ่งเป็นระบบเงินสด ขณะที่ภาคเกษตรอื่น ๆ ภาครัฐกลับดูแลอย่างเต็มที่ เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด ขอให้กรมประมง กรมจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง เร่งช่วยเหลือด้านเงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการทำประมง ตลอดจนเพิ่มวันทำประมงต่อปี หากไม่แก้ไขผู้ประกอบการหลายรายจะต้องเลิกอาชีพ เพราะประสบกับสภาวะขาดทุนและมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาคมประมงจังหวัดทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกร้องให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เร่งดำเนินการหยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงเพิ่มเติมอีก ยกเว้นการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง แก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้ให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณ 100,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 และเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม 2562
นายมงคล กล่าวอีกว่า ราคาสินค้าประมงในประเทศตกต่ำต่อเนื่อง แต่ยังมีการนำเข้าจำนวนมาก จึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 92 ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องตรวจสอบว่า ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม เป็นสินค้า IUU หรือไม่ เนื่องจากสินค้าประมงต่างประเทศเข้ามาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้าของชาวประมงไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะที่ต้นทุนสูงกว่า แต่ราคาขายกลับตกต่ำจึงต้องออกมาตรการปกป้องสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ
นายมงคล กล่าวต่อว่า ต้องการให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับแก้ปัญหานี้ด้วยตนเอง เพราะจะมีอำนาจในการแก้กฎหมายให้ชาวประมงได้ ที่ผ่านมามอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เป็นประธานแก้ปัญหาภาคประมง มีการประชุมแทบทุกสัปดาห์ ชาวประมงจังหวัดต่าง ๆ ต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักเมื่อเรียกประชุม นับตั้งแต่มีรัฐบาลนี้ก็ประชุมตลอดยังคงย่ำอยู่กับที่
ล่าสุดแจ้งขอชุมนุมต่อสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งแล้วตาม พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ โดยจะมีชาวประมงมาจาก 22 จังหวัด กว่า10,000 คน เดินทางมาเรียกร้องรัฐบาล โดยจะอยู่จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2563 หรือจนกว่าจะได้ข้อยุติซึ่งเป็นที่พึงพอใจ โดยมีมาตรการแก้ไขเยียวยาที่เป็นรูปธรรม
“หากภาครัฐไม่ดำเนินการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของชาวประมงก็ให้รัฐซื้อเรือประมงพร้อมเครื่องยนต์ และเครื่องมือประมงไปให้หมดทั้งประเทศเพราะไม่สามารถทำการประมงได้อีกแล้ว” นายมงคล กล่าว.-สำนักข่าวไทย