กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – สมาคมประมงฯ ยันเจรจา รมว.เกษตรฯ คนเดียว หากวางกรอบเวลาแก้ปัญหาเรื้อรังมานานสำเร็จจะสลายการชุมนุม ถ้าตกลงกันไม่ได้ ขู่ยกระดับการเคลื่อนไหว ด้าน “เฉลิมชัย”ยันรับฟังปัญหาชาวประมงด้วยตนเอง ชี้ยินดีแก้ปัญหาและพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบข้อเรียกร้อง 11 ข้อ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวประมงที่มาร่วมชุมนุมเกือบหมื่นคนแล้วมีมติร่วมกันว่า จะให้กรรมการสมาคมฯ เจรจากับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลรับจะแก้ปัญหาให้ภาคการประมงมาตั้งแต่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองไทยกรณีทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งมีการออกกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการรัฐที่เกิดผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการประมง ขณะนี้ยืดเยื้อมาถึง 3 รัฐมนตรีเกษตรฯ แล้ว จึงหวังว่านายเฉลิมชัย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ จากรัฐบาลเลือกตั้งจะทำได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง และนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ได้ขึ้นเวทีของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อรับหนังสือข้อเสนอของชาวประมง แต่แกนนำชาวประมงยืนยันจะเจรจากับ รมว.เกษตรฯ เท่านั้น เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ อีกทั้งที่ผ่านมาจากการมอบหมายให้นายอลงกรณ์ ทำหน้าที่แทน แม้จะมีการเชิญผู้แทนภาคประมงมาประชุมเกือบทุกสัปดาห์ แต่ไม่มีข้อสรุปใด ๆ ที่เป็นรูปธรรม
นายมงคล กล่าวว่า กรรมการสมาคมฯ เห็นร่วมกันว่า หาก รมว.เกษตร สามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบได้ชัดเจน รวมทั้งรับที่จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขตามข้อเสนอทั้ง 11 ข้ออย่างเป็นที่น่าพอใจ จะสลายการชุมนุม แต่หากดำเนินการไม่ได้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะยกระดับการเคลื่อนไหว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พร้อมจะหารือกับกลุ่มชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการตามข้อเรียกร้องบางส่วนไปแล้ว เช่น ประสานสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ การเพิ่มวันทำการประมง การซื้อคืนเรือประมงขาว-แดงที่ต้องหยุดประกอบอาชีพจากนโยบายจำกัดจำนวนเรือของรัฐ โดยส่งเรื่องไปสำนักงบประมาณ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ การออกข้อกฎหมาย ประกาศ และระเบียบที่อำนวยความสะดวกในการทำประมงมากขึ้น สำหรับข้อเรียกร้องที่เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอื่น ๆ ได้แก่ การขอให้หยุดนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 92 เนื่องจากเกิดจากประมง IUU และไม่ถูกสุขอนามัย แล้วสินค้าประมงจากต่างประเทศเข้ามาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ การขาดแคลนแรงงาน ปัญหากฎหมายแรงงาน การกำหนดให้คณะกรรมการกากับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางบังคับห้ชาวประมงต้องจ่ายเงินแก่บริษัทน้ำมันผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งระบุว่าสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงนั้น จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาแก้ไขร่วมกันทุกข้อ.-สำนักข่าวไทย