รร.ปรินซ์ 5 ก.ค. – สมาคมประมงฯ มีมติเสนอยกเลิกมาตรา 57 ห้ามจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือ หวั่นกระทบประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ด้านสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านชง รมว.เกษตรฯ คนใหม่แก้ 4 ปัญหาเร่งด่วน
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนัดพิเศษ โดยที่ประชุมมีมติขอคัดค้านการออกประกาศกำหนดห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมงตามมาตรา 57 แห่งพระราชกำหนดการประมง ซึ่งจะยื่นข้อเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมประมง เห็นว่า หากนำมาตรา 57 แห่งพระราชกำหนดการประมงมาใช้กับชาวประมงจะทำให้เรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์มีความเสี่ยงที่จะทำความผิดได้โดยง่าย และเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงในภาพรวม รวมทั้งอาจจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำทุจริตด้วยการเรียกร้องผลประโยชน์มิชอบจากชาวประมง เพราะหากกระทำผิดโดยตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจ จะถูกลงโทษขั้นรุนแรงตามมาตรา 114(8) โดยจะมีโทษปรับตามมาตรา 139 ปรับตั้งแต่ 100,000-30 ล้านบาท ส่วนกรณีที่เป็นเรือประมงพาณิชย์ หากมีการนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลก็มีโอกาสถูกยึดเรือประมงตามมาตรา 169 นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ชาวประมงทั้งประเทศไปชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากมีการประกาศใช้มาตรา 57 ซึ่งก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยทุกคน
นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรปราการ กล่าวถึงปลาทูไทย หายไปไหน ว่า กรมประมงจะต้องออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องโดยเร็ว เพราะจากที่เดินสำรวจตลาดอาหารทะเล พบว่า ปลาทูไทยไม่ได้หายไปไหนและยืนยันว่าไม่มีการจับลูกปลาทูไปขาย เพียงแต่พบเห็นข่าวลูกปลาทูถูกนำไปขายในโลกโซเชียลเท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงยังไม่พบเห็นด้วยตาตัวเอง
นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯเตรียมเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงข้อเรียกร้อง 4 ประเด็นปัญหาเร่งด่วนและที่ผ่านมาได้เรียกร้องรัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาแล้ว ยังรับปากว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องสำคัญของชาวประมงพื้นบ้าน จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นผลทางปฏิบัติ โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยให้มีหมวด “ว่าด้วยการประมงพื้นบ้าน” เป็นการเฉพาะ 2.ต้องออกประกาศยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่มีสภาพทำลายล้างเพิ่มเติม และออกประกาศ กำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนทุกชนิดที่ห้ามจับขึ้นเรือประมง ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจกับประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยว่าถ้าลากติดอวนขึ้นมาเล็ก ๆ น้อยไม่เป็นไร แต่ถ้าเกินร้อยละ 20 ถือว่า ผิดกฎหมายอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงกลายเป็นประเด็นลุกลามทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ ซึ่งขอทำความเข้าใจกันตามนี้ด้วย 3.รัฐบาลต้องแก้ไขคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เพื่อเปิดให้จดทะเบียน เรือประมงพื้นบ้านได้ และ 4. ต้องกำกับให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติดำเนินการเข้มงวดต่อการประมงอวนรุน อวนลาก ลอบคอนโด อย่างจริงจังเพราะไม่มีการตรวจจับหรือจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย