สงขลา 6 ธ.ค. – “เฉลิมชัย” ติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมย้ำ 14 จังหวัดภาคใต้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำฤดูฝน เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน คลองภูมินารถดำริ (คลองระบายน้ำ ร.1) โดยกล่าวว่า ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในอำเภอหาดใหญ่อย่างมากเนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ขณะนี้งานก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 68 อีกทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งวางแผนและเตรียมพร้อมป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในช่วงมรสุมเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งคาดว่าหากเกิดฝนตกหนักเหมือนปี 2553 ขอให้ชาวหาดใหญ่มั่นใจว่าสามารถรับมือได้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า อำเภอหาดใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งปี 2531 2534 และ 2553 เกิดน้ำท่วมใหญ่ มูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นที่มาของการจัดทำโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม./วินาที เพิ่มเป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านคลองอู่ตะเภาในอัตรา 465 ลบ.ม./วินาที ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,665 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันแม้ว่าคลองระบายน้ำ ร.1 จะยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่องค์ประกอบหลักเช่น ประตูระบายน้ำหน้าควน 2 ซึ่งเป็นจุดที่แบ่งน้ำมาจากคลองอู่ตะเภาก่อสร้างและติดตั้งบานระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถบริหารจัดการน้ำโดยการเปิดปิดบาน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่คลองระบายน้ำ ร.1 นอกจากนี้ ยังขุดขยายความกว้างของคลองระบายน้ำจากเดิมท้องคลองกว้าง 24 เมตรเป็น 70 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ทำให้คลองระบายน้ำ ร.1 ในปัจจุบันจะสามารถช่วยในการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้สูงสุดประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที
“หากโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) เสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศได้เป็นอย่างมาก” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งในภาคใต้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พื้นที่ที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมขังให้เร่งระบายออกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี สำหรับสงขลา ปริมาณฝนสะสม อยู่ที่ 1,402.2 มม. คิดเป็นร้อยละ 71.5 ต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยสะสม 28.5 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางจังหวัดสงขลามี 3 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกัก 84.161 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 51.554 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61.26และสภาพน้ำท่าในลุ่มน้ำอู่ตะเภาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตลอดจนมีการวางแผนเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุและป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เฝ้าระวังทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล ซึ่งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไว้อย่างเพียงพอ
ส่วนจังหวัดนราธิวาสฝนตกหนักในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 31 พ.ย. ถึงวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา สามารถวัดปริมาณฝนสะสมได้ประมาณ 336 มิลลิเมตร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลก ปัจจุบัน (6 ธ.ค. 62) ที่สถานีวัดน้ำท่า X.119A บริเวณสะพานลันตู อำเภอสุไหงโก-ลก ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1.50 เมตร คาดว่าระดับน้ำจะลดต่ำกว่าตลิ่งภายในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ และบริเวณคลองตันหยงมัส ที่สถานีวัดน้ำท่า X.73 บ้านตันหยงมัส อำเภอระแงะ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 83 เซนติเมตร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 -12 นิ้ว 12 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ Hydro Flow 5 เครื่องและเดินเครื่องสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 6 แห่ง 12 เครื่อง
จังหวัดพัทลุง ฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำคลองสะพานหยี ในเขตตำบลนาโหมด อำเภอเมือง ซึ่งปัจจุบันที่ ระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนลุ่มน้ำคลองท่าแนะ ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน ยังคงมีน้ำท่วมบริเวณวัดล้อ และถนนสายตลาดควนขนุน-แยกโพธิ์ทอง ระดับน้ำสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร โครงการชลประทานพัทลุงเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่โดยเร็ว
สำหรับจังหวัดชุมพร น้ำล้นตลิ่งบริเวณตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวนทำให้เกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่โรงเรียนชลธารวิทยา และท่วมผิวจราจรทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4134 สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ระยะทางประมาณ 200 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอำเภอทุ่งตะโก น้ำท่วมสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 ตำบล ได้แก่ หมู่ 3 หมู่ 8 ตำบลทุ่งตะไคร หมู่ 3 ตำบลช่องไม้แก้ว หมู่1 หมู่ 2 และ หมู่12 ตำบลตะโก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
“กรมชลประทานยังคงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประสานงานเครือข่ายต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์น้ำ 24 ชั่วโมงตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย