กรุงเทพฯ 5 ธ.ค. – หลังผลสอบ PISA หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ประกาศพร้อมกัน 79 ประเทศทั่วโลก พบว่า คะแนนสอบด้านการอ่านของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง การอ่านแบบฉาบฉวย ไม่เจาะลึก ผ่านโซเชียล จะใช่ปัจจัยต่อคะแนนการอ่านที่ต่ำลงหรือไม่ ติดตามจากรายงาน
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA เป็นการสอบวัดความรู้ 3 ด้าน ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คือ ทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มี 79 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประเมิน เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของประเทศนั้นๆ โดยจัดสอบทุก 3 ปี และประกาศผลพร้อมกันทั่วโลก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า จีนและสิงคโปร์มีคะแนนสูงสุด ขณะที่ไทยมีคะแนนการอ่านลดลงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 16 คะแนน แต่คะแนนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3 คะแนน
ผู้อำนวยการ สสวท. ยอมรับว่า การนิยมอ่านเร็ว อ่านไว ไม่ลงลึกในเนื้อหา ผ่านสื่อดิจิทัล หรือโซเชียล อาจมีผลต่อทักษะการอ่านแบบวิเคราะห์ของเด็กไทย ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนก็มีผลต่อช่องว่างของคะแนนที่ห่างกันมาก รวมถึงทักษะการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หากการศึกษาไทยไม่กระจุกตัว แต่กระจายการสอนให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ จะช่วยพัฒนาเด็กไทยเทียบเท่าสากลในอนาคต
ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า โรงเรียนไทยเน้นสอนในห้องเรียน แต่การสอบวัดทักษะของ PISA คือ การสอบวัดความรู้รอบตัว เน้นทักษะการใช้ชีวิตจริง ดังนั้น หากจะให้คะแนนการอ่านกระเตื้องขึ้น ระบบการศึกษาไทยต้องเน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบ เอาจริงกับนโยบายการศึกษาให้ลงสู่ระดับปฏิบัติอย่างจริงจัง
ผลการประเมิน PISA เปรียบเป็นมาตรวัดคุณภาพการศึกษาไทยว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหนให้เทียบเท่าสากล ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย. – สำนักข่าวไทย