สจล. 26 พ.ย.-สจล.จับมือ NICT ตั้ง สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ แห่งแรกของไทย ที่ จ.ชุมพร ตรวจจับ พลาสมาบับเบิล ช่วยแจ้งเตือนลดความเสียหายเกี่ยวกับช่องสัญญาณการสื่อสารได้ทั่วโลก คาดเปิดใช้ได้ต้นปีหน้า
รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนรองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วย นาย คะซุมะ สะทะอิระ ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันวิจัยแม่เหล็กไฟฟ้าประยุกต์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น แถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (NICT) ประเทศญี่ปุ่น เตรียมจัดสร้าง สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ แห่งแรกของไทย ภายในพื้นที่ สจล. วิทยาเขตชุมพรฯ รุกตรวจจับ “พลาสมาบับเบิล” และสภาพอวกาศที่ผิดปกติ ที่จะช่วยลดความเสียหายทั้งในชีวิต ทรัพย์สินและอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เครื่องบินลงจอดผิดตำแหน่ง อากาศยานไร้คนขับเคลื่อนที่ผิดเส้นทาง หรือแม้แต่การระบุตำแหน่งจีพีเอสที่ถูกต้องแม่นยำ
รศ.ดร.อนุวัฒน์ กล่าวว่า จากความแปรปรวนของสภาพอวกาศ คือ พลาสมาบับเบิล และความผิดปกติอื่นๆ ภายในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ บริเวณเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก กำลังทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งนี้ส่งผลโดยตรงในการลดประสิทธิภาพของเครื่องรับ GNSS หรือระบบระบบนำทางบนเครื่องบิน และอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเปนจำนวนมาก เช่น ในกรณีที่เครื่องบินลงจอด (Landing) ผิดตำแหน่ง อากาศยานไร้คนขับเคลื่อนที่ผิดเส้นทาง เป็นต้น
ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก ตระหนักถึงผลกระทบ พร้อมทั้งเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการติดตั้งสถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการมอนิเตอร์ หากตรวจจับพลาสมาบับเบิลและสภาพอวกาศที่ผิดปกติ โดยเฉพาะ“พลาสมาบับเบิล”ถือเป็นความแปรปรวนชนิดหนึ่งในชั้นบรรยากาศที่ส่งผลกระทบให้สัญญาณดาวเทียมที่ต้องส่งผ่านพลาสมาบับเบิลถูกลดทอนคุณภาพ และในกรณีเลวร้ายที่สุด จะไม่สามารถใช้งาน GPS ได้เป็นเวลานาน ถือเป็นตัวขัดขวางช่องสัญญาณในการสื่อสาร หากพบเจอจะสามารถแจ้งเตือนไปยังหน่วยงาน หรือผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องไปยังสถานีต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทันที ให้หลบเลี่ยงไปใช้ช่อสัญญาณอื่นที่จะไม่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัย
ส่วนสาเหตุที่ต้องไปตั้งสถานนี ในพื้นที่กว่า 7 ไร่ที่ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร เนื่องจากการตั้งสถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ จำเป็นต้องตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกให้ได้มากที่สุด ชุมพร ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกในการติดตั้งเรดาห์ เพราะพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกมากที่สุด และมีเครือข่ายสถานีสังเกตการณ์สภาพอวกาศที่ลองติจูดเดียวกัน ทำให้สถานีเรดาห์ฯแห่งนี้ เป็นสถานีที่สามารถมอนิเตอร์และแจ้งเตือนนานาประเทศก่อนใครจึงนับเป็นการบันทึกอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของไทย กับการมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบภัยพิบัติทางอวกาศที่อาจจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต
ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบ และคาดว่าเรียบร้อยภายในต้นปี 2563 โดยงบประมาณในการร่วมทุนครั้งนี้ประมาณ 30 ล้านบาทและ ในอนาคตจะตกแต่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านอวกาศที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วย. –สำนักข่าวไทย