ภูเก็ต 14 พ.ย.- อธิบดีกรมเจ้าท่าลงภูเก็ตบูรณาการสร้างความเชื่อมั่นมาตรการ IUU ประเทศไทย ไม่สนับสนุนเรือประมงทำผิดกฎหมาย เตรียมทำลายเรือ “Uthaiwan” สัญชาติแคเมอรูน ติดแบล็กลิสต์ลอบเข้าน่านน้ำไทยทำประมง หลังคดีสิ้นสุด และประสานเจ้าของเรือแล้วให้ความร่วมมือดี
กรณีกองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมบูรณาการจับกุมเรือ “Uthaiwan” สัญชาติแคเมอรูน ลักลอบเข้าน่านน้ำผิดกฎหมายประมงไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเรือ IUU LIST เพราะเคยกระทำความผิดในน่านน้ำของอังกฤษ โดยเรือลำดังกล่าวเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำขนาด 3,000 ตันกรอส ยาว 101 เมตร ขณะจับกุมมีลูกเรือคนไทยทั้งหมด 8 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหามีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 94 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ที่มีการทำการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ควบคุมเรือดังกล่าวเดินทางกลับมายังท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันนี้ (14 พ.ย.) นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของเรือ ร่วมหารือถึงแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นมาตรการ IUU ว่าจะไม่มีการนำเรือ “Uthaiwan” สัญชาติแคเมอรูน ที่ถูกจับกุมได้ไปใช้ทำประมงอีก หลังจากคดีความสิ้นสุด
นายวิทยา กล่าวว่า หลังจับกุมเรือลำดังกล่าว ทางกรมประมงได้ดำเนินการทางกฎหมาย และขณะนี้เจ้าของบริษัทได้เสียค่าปรับตามที่กำหนด ส่วนกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย และล็อกเรือตามที่กรมประมงแจ้งไว้ เมื่อกรมประมงดำเนินคดีเสร็จสิ้นก็จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเรือลำนี้จะไม่กลับไปทำประมงผิดตามกฎหมายอีก จึงได้หารือร่วมกันกับเจ้าของเรือเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเจ้าของเรือให้ความร่วมมือกับทางการด้วยดี โดยจะนำเรือลำนี้ไปทำลาย แต่การทำลายนั้น กรมเจ้าท่าจะหารือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เขต 3 เพื่อวางทางดำเนินการต่อไปและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ว่ามีความจริงจังและเข้มงวดกับการทำประมงผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ส่วนคดีมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว ทั้งความผิดที่เกี่ยวกับคนและเรือ อย่างไรก็ตาม จะต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเรือลำนี้ยังทำผิดในคดีอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางกรมเจ้าท่าก็กำลังรอข้อมูลของทางตำรวจ และกรมประมงถ้ามีก็จะไม่ปล่อย ปัจจุบันทางกรมเจ้าท่าทำงานคู่ขนานกับทางเจ้าของเรือ ซึ่งทราบว่าถ้าไม่ติดคดีอะไรแล้วจะนำไปทำลายที่ เมืองจิตะกอง ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งการนำเรือไปทำลายทางกรมเจ้าท่าก็จะมีมาตรการในการควบคุมตั้งแต่การนำเรือออกจากท่าไปจนถึงขั้นตอนการทำลายเพื่อยืนยันว่ามีการทำลายจริง ซึ่งทางเจ้าของเรือจะอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ที่จะเดินทางไปตรวจสอบด้วย.-สำนักข่าวไทย