กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – แกนนำเกษตรกรประกาศจะร้องศาลปกครองอีกครั้ง เมื่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้ ชี้กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หากไล่จับปรับเกษตรกรที่ซื้อสารมาใช้วุ่นวายแน่ ยันยังไม่เชื่อประสิทธิภาพสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ “อลงกรณ์” มาศึกษาจากแปลงอ้อย จ. สุพรรณบุรี ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากถูกหลอกขาย เนื่องจากผสมพาราคอวตและไกลโฟเซตทั้งสิ้น
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เตรียมจะร้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้ง ทันทีที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดมีผลบังคับใช้ เกษตรกรจำนวนมากไม่สบายใจในการปฏิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้นทุนจะสูงขึ้นจากการห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิด แต่กรมวิชาการเกษตรออกคำสั่งกำหนดแผนแจ้งการครอบครองและส่งมอบสารเคมีแล้ว จึงเห็นว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเพียงการทำให้ครบตามขั้นตอนเท่านั้น แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะนำความคิดเห็นของประชาชนและเกษตรกรไปพิจารณา เพื่อตัดสินใจแต่อย่างใด
นอกจากนี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังระบุว่าค่าทำลายสารเคมีเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง เกษตรกรทั่วประเทศที่ซื้อสารเคมี 3 ชนิดมาไว้ใช้นั้น ต้องจ่ายค่าทำลายที่มีอัตราสูงมากอีก หากสารวัตรเกษตรมาไล่จับเกษตรกร เชื่อว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายแน่นอน ล่าสุดสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยเปิดบัญชีให้เกษตรกรส่งเงินมาสนับสนุนค่าจ้างทนายความ เพื่อร้องต่อศาลปกครอง ทนายความที่รับว่าความแจ้งค่าใช้จ่าย 800,000 บาท จึงขอให้เกษตรกรร่วมสมทบตามกำลัง อีกทั้งกำลังเตรียมเอกสารให้เกษตรกรที่เดือดร้อนเป็นโจทย์ร่วม
นายสุกรรณ์ ยังแสดงความเห็นถึงการที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ไปตรวจเยี่ยมแปลงอ้อยของเกษตรกรรายหนึ่งในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยระบุว่าเป็นแปลงอ้อยอินทรีย์ใช้สารชีวภัณฑ์ของผู้ผลิตรายหนึ่ง เพื่อกำจัดวัชพืชมา 7 ปีซึ่งได้ผลดี ทั้งนี้ ต้องการทราบผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการว่าจุลินทรีย์ที่กล่าวอ้างว่า กำจัดวัชพืชได้นั้นเป็นชนิดใด หากกำจัดวัชพืชได้จริงส่งผลต่อพืชประธานหรือไม่ หากได้ผลดีจริง จะได้นำมาใช้ในแปลงอ้อย 420 ไร่ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย จึงขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งทดสอบประสิทธิภาพ แต่ก่อนขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ดังกล่าว ขอให้ตรวจให้แน่ชัดว่าไม่มีสารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชอื่นใดผสมอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากถูกหลอกให้ซื้อสารชีวภัณฑ์หลายยี่ห้อมาใช้ แต่เมื่อตรวจสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าผสมพาราควอตและไกลไฟเซตลงไปขายราคาแพงอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย