จาการ์ตา 6 พ.ย. – กลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ที่นำโดยเออร์ฟาน บูดิ ซาเทรีย นักประดิษฐ์ชาวอินโดนีเซีย ใช้เวลา 3 เดือนในการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ติดตัวกับร่างกายที่สามารถจะช่วยให้ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน ๆ ลดเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือได้
อุปกรณ์ที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า “เน็ตท็อกซ์” มาจากคำว่า “อินเทอร์เน็ต ดีท็อกซ์” หรือ การล้างพิษอินเทอร์เน็ต เป็นอุปกรณ์ที่สวมไว้ที่ข้อมือและมีตัวตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือดและชีพจร ซึ่งจะสามารถวัดระดับออกซิเจนในฮีโมโกลบินและความผันแปรของระยะเวลาของการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง หรือ เอชอาร์วี ผลการศึกษาพบว่า การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลายาวนานจะส่งผลทำให้ระดับของเอชอาร์วี ลดลง ในขณะที่ “เน็ตท็อกซ์” จะส่งเสียงเตือนเมื่อระดับ เอชอาร์วีและระดับออกซิเจนในเลือดลดลงต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม เพื่อเตือนให้ผู้ใช้หยุดการใช้สมาร์ทโฟน ซาเทรีย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่อายุระหว่าง 18-25 ปี ค่าเอชอาร์วี ควรจะอยู่สูงกว่า 60 โดยอ้างอิงจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ทีมนักศึกษาและนักวิจัยของอินโดนีเซียกลุ่มนี้กำลังปรับปรุง “เน็ตท็อกซ์” ให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากค่าของเอชอาร์วี สามารถผันแปรไปได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างของบุคคล เพศและสภาพของสุขภาพของคนนั้น ๆ ทางกลุ่มวางแผนจะจดสิทธิบัตรผลงานทางมหาวิทยาลัยภายในปีหน้า ซาเทรีย กล่าวว่า “เน็ตท็อกซ์” มีเป้าหมายในการช่วยผู้ที่ตระหนักเห็นความสำคัญของสุขภาพ และช่วยผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากสภาพการติดอินเทอร์เน็ต.-สำนักข่าวไทย