กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – คมนาคมยืนยันเมกะโปรเจกต์ 1.947 ล้านล้านบาท ที่รัฐเดินหน้าลงทุนคนไทยวิศวกรไทยจะต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามนโยบาย “Thai First : ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” ด้านสำนักงานอีอีซี ระบุ 5 ปีต้องการวิศวกรเกือบ 5 แสนคน
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดการเสวนา หัวข้อ “โครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐวิศวกรไทยได้หรือเสีย” จัดโดยสภาวิศวกร ว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศระยะเร่งด่วน 8 ปี ระหว่างปี 2558-2565 รวม 44 โครงการ วงเงินลงทุน 1.947 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้ 29 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1.2 ล้านล้านบาท ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 17 โครงการ มูลค่ารวม 782,329 ล้านบาท และมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 12 โครงการวงเงิน 412,739 ล้านบาท
นายอธิรัฐ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดและผลักดันโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ให้เป็นไปตามแผนการลงทุนควบคู่กับนโยบาย “Thai First : ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” โดยการส่งเสริมให้คนไทยโดยเฉพาะวิศวกรและช่างเทคนิคชาวไทยเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งสนับสนุนการใช้วัสดุชิ้นส่วนที่บริษัทไทยสามารถผลิตได้เข้ามาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง การผลิตจากประเทศไทยแทนการนำเข้า เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอด สามารถให้คนไทยดำเนินการได้เองในอนาคต ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง โครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ว่า โครงการลงทุนในอีอีซี มีมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านบาท จะช่วยให้วิศวกรมีงานทำมากขึ้น เพราะโครงการจะช่วยสร้างงานใหม่ รายได้ดีให้กับเยาวชนไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องการวิศวกร รวม 475,674 อัตรา ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมวิศวกรรุ่นใหม่ให้มีทักษะความรู้ที่สอดคล้องและเพียงพอและสอดรับกับตลาดแรงงานในอีอีซีที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับพัฒนาทักษะวิศวกรในปัจุบัน ให้มีทักษะและความรู้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย ด้านสภาวิศวกรทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพจะต้องมีการปรับมาตรฐานการออกใบรับรองวิศวกรให้ครอบคลุมเปิดกว้างเพียงพอกับสาขาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีด้วย
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ สภาวิศวกรพบว่ามีข้อจำกัดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมทั้งขั้นตอนการออกแบบการก่อสร้างและการผลิตให้กับวิศวกรไทย ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนำเข้าสิ่งก่อสร้างจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สภาวิศวกรในฐานะตัวแทนวิศวกรไทยต้องการให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้วิศวกรไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานกับวิศวกรต่างประเทศที่เข้ามาพร้อมกับโครงการลงทุน โดยเฉพาะต้องการให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนไทยได้เรียนและสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งรูปแบบลักษณะนี้ประเทศจีนเคยใช้มาแล้ว และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี.-สำนักข่าวไทย