ทำเนียบ 5 พ.ย.-ครม.เห็นชอบร่างเอกสารประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ร่างเอกสารรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 3 ฉบับ ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS )ในเวทีประชุม6-7 พ.ย.นี้ ที่นครคุณหมิง
ผู้ข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ดังนี้ ได้แก่ 1.ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงาน( GMS) 2.ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลุง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจําแผนงาน GMS เพื่อเข้าร่วมการประชุม สุดยอดผู้นําครั้งที่ 8 แผนงาน GMS โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าวจะส่งเสริมบทบาท สถานะ และเกียรติภูมิของไทยในเวที ระหว่างประเทศ และการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกันในทุกสาขา และเสริมสร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน ทางอากาศ การสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การสร้างเครือข่ายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
นอกจากนั้น ครม. เห็นชอบการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 (6th Greater Mekong Subregion Environment Ministers’ Meeting : GMS EMM-6) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรี ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จํานวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. GMS 2030 Strategic Framework for Accelerating Climate Action and Environmental Sustainability 2.ร่างแถลงการณ์ร่วมกรุงพนมเปญว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ3.ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 สาระสําคัญเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการส่งเสริมการดําเนินงานเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาและประเด็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น รวมถึงขยะพลาสติก ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวในที่ประชุมสุดยอดผู้นําแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 (The 8th GMS Summit) ระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ย. 2567 ณสาธารณรัฐประชาชนจีน
ครม.เห็นชอบรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS ) ครั้งที่ 10 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ 10 (Vientiane Declaration of the 10th Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธานของ ACMECS กําหนดจัดการประชุมภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ในวันที่ 7 พ.ย.ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดผู้นําแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 ซึ่งจะมีการรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ที่มีสาระสําคัญ เช่น สนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS ,การแสดงความยินดีต่อความสําเร็จของการจัดตั้งสํานักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย รวมถึงการขยายระยะเวลาดําเนินการของแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 – 2023) และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 11 ในปี ค.ศ. 2026 ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 1778 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.-314.-สำนักข่าวไทย