16 ต.ค. – ปัจจุบันในท้องทะเลไทยมีวาฬบรูด้ามากถึง 70-80 ตัว ในอ่าวไทยตอนบนพบถึงกว่า 50 ตัว และมีชื่อเสียงมาก ในช่วงนี้ของทุกปี จะพบวาฬบรูด้าออกมาหาอาหารใกล้ชายฝั่งมากที่สุด จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเข้ามารอชม นักอนุรักษ์และนักวิชาการทางทะเลจึงเสนอให้มีแผนการปกป้องวาฬบรูด้า เพื่อให้มีการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
นี่คือภาพวาฬบรูด้า ชื่อ เจ้าเอกน้อย ความยาวกว่า 10 เมตร กำลังว่ายน้ำเข้ามายังเรือของนักท่องเที่ยวเหมือนจะทักทาย
ส่วนนี่คือวาฬบรูด้า ชื่อ แม่วันสุข อ้าปากค้างไว้เหนือผิวน้ำ ฝูงปลาที่เป็นเหยื่อกระโดดเข้าไปในปาก เป็นพฤติกรรมที่เห็นได้เด่นชัดและมีชื่อเสียงที่สุดของวาฬบรูด้าที่พบในทะเลอ่าวไทยตอนบน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในภาพประทับใจของช่างภาพที่รักการถ่ายสัตว์ทะเลหายาก สนใจวาฬบรูด้ามานานกว่า 10 ปี เล่าว่า วาฬบรูด้าทุกตัวที่พบจะมีการตั้งชื่อ เช่น สัญญา, สีสุข, สดใส และเจ้าหน้าที่จะจดจำวาฬตัวนั้นๆ ได้ด้วย โดยสังเกตจากลายขอบปากด้านบนขวา
วาฬบรูด้าฉลาดมาก บางตัวนิสัยขี้เล่น จดจำเรือได้ และจะว่ายเข้ามาใกล้ เรื่องเสียงของเรือก็มีความสำคัญ อย่างเรือเร็ว หรือเจ็ตสกี มีท่อที่อัดลงน้ำ ทำให้เกิดเสียงรบกวนโดยตรง ต่างจากเรือใหญ่ที่ไอเสียของท่อและเครื่องจะออกบนผิวน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแนะนำให้แล่นเรือเข้าชมวาฬได้ครั้งละ 1-3 ลำ ต่อวาฬบรูด้า 1 ตัว และเมื่อเข้าไป เรือจะต้องลดความเร็ว ลดเสียง และลอยเรืออยู่นิ่งๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อพฤติกรรมการหาอาหารของมัน
อาจารย์ธรณ์ นักวิชาการทางทะเล คาดว่า วาฬบรูด้าในท้องทะเลไทยมีประมาณ 70-80 ตัว ในจำนวนนี้อยู่ในอ่าวไทยประมาณ 50 ตัว แม้มันจะยังมีอัตราการเกิดมากกว่าการตาย มีอายุอยู่ได้นานสูงสุด ถึง 70 ปี แต่พบว่าสาเหตุการตายส่วนมากมาจากการติดเครื่องมือประมง และการกินขยะพลาสติก โดยเสนอแผน 3 ขั้น ปกป้องวาฬบรูด้าแบบเร่งด่วน คือ ต้องควบคุมการอนุญาตให้เข้าเที่ยวชมวาฬ โดยเฉพาะการเปิดให้ผู้ประกอบการ ชาวประมง หรือกลุ่มที่สนใจชมวาฬลงทะเบียน เพื่อกำหนดแนวทางและกติการ่วมกัน
ปัจจุบัน วาฬบรูด้า และสัตว์ทะเลหายากอีก 3 ชนิด คือ วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ถูกเพิ่มในบัญชีสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ทุกปีในช่วงกันยายน-พฤศจิกายน จะพบเห็นวาฬบรูด้าเข้ามาใกล้ฝั่งที่สุด เพราะมีแพลงก์ตอนและธาตุอาหารมาก ฝูงปลากะตักจะมากินแพลงก์ตอน และวาฬบรูด้าก็จะตามมากินปลาเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง นักวิชาการเน้นให้มีการควบคุมธุรกิจการเที่ยวชมวาฬบรูด้าให้เหมาะสม ให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในธรรมชาติ. – สำนักข่าวไทย