ม.ธรรมศาสตร์ 11 ต.ค.- อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ย้ำอธิบดีภาคมีอำนาจตรวจร่างและทำความเห็นแย้งได้ และค้านการยกเลิกการตรวจร่าง ขณะที่คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และนักวิชาการเห็นต่างเสนอยกเลิกการตรวจร่าง และใช้การตรวจสอบในรูปแบบคณะกก.วินัยและการอุทรณ์และฎีกาแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนา” คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” โดยหยิบยกเหตุการณ์นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั่นต้นในศาลจังหวัดยะลายิงตัวพร้อมออกแถลงการณ์ขึ้นมาพูดคุย
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฏีกา และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงเหตุการณ์นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ยิงตัวพร้อมออกแถลงการณ์ว่า เมื่อทราบเหตุการณ์ รู้สึกตกใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับวงการศาลยุติธรรม เพราะในอดีตอยู่กันด้วยความเรียบร้อยมาตลอด เคารพในระบบอาวุโส คดีนี้ไม่ขอออกความเห็นว่าใครผิดหรือถูก เพราะไม่ทราบรายละเอียด แต่ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 และมาตรา13 อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษา และสามารถเข้าไปร่วมในองค์คณะได้ แม้จะไม่ได้เป็นองค์คณะในสำนวนนั้น และสามารถทำความเห็นแย้งได้ จึงไม่เห็นด้วยกับบางข้อเสนอที่จะให้ยกเลิกให้อธิบดีภาคตรวจร่าง และเชื่อว่าผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ไม่เข้าไปแทรกแซงคดีโดยมีอคติ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามสำนวน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกร้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา157 ของรัฐธรรมนูญ
น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้พิพากษาด้วยกัน ส่วนการขอคำปรึกษาสามารถทำได้แต่ควรมาจากตัวผู้พิพากษาเอง ซึ่ง ตามหลักสากลจึงเห็นว่า ไม่ควรมีการทบทวน แต่ว่าอาจจะสามารถอุดช่องว่างในเรื่องคุณภาพมาตรฐานได้ เช่นการอุทธรณ์ และฎีกา ขณะเดียวกันในระบบสากลเห็นว่าคณะกรรมการในการตรวจสอบการทำงานและสอบสวนวินัย ควรมี อดีตผู้พิพากษาและคนนอกร่วมเป็นกรรมการเพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ และควรเปิดให้ตรวจสอบขั้นตอน ตรวจสอบ ทางวินัยได้
คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ยังกล่าวถึง คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ไม่ควรรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนโดยวิธีพิเศษ การซักถามและพาไปชี้สถานที่เกิดเหตุหรืออยู่ในช่วงกฎหมายพิเศษ จึงอยากให้ใช้กฎหมายทั่วไปแทน
นายรณกรณ์ บุญมี อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความอิสระภายในของผู้พิพากษาเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นว่าความเป็นอิสระจะผู้พิพากษาผู้ใหญ่ถือเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ การตรวจสอบร่างคำพิพากษาไม่เกี่ยวกับ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีที่ผู้ตรวจร่างไม่ได้มีอำนาจให้คุณให้โทษซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่ได้มีอำนาจให้คุณให้โทษแต่เป็นอำนาจของ กต.
“ผมไม่เห็นด้วยกับการตรวจร่างเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อใจในตัวผู้พิพากษา ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าทางที่ผ่านงานมา 10 กว่าปี แต่ หากจะมีการตรวจร่างขอให้ทบทวนเฉพาะข้อกฎหมายแต่อย่าทบทวนข้อเท็จจริง และควรเขียนความเห็นแย้งในคำพิพากษามาให้ชัดเจน เพื่อความโปร่งใส”นายรณกรณ์ กล่าว
นายรณกรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายความมั่นคงว่า เหตุใดจึงมีสิทธิ์น้อยกว่าผู้ต้องหา เหตุใดไม่มีทนายความที่ผู้ต้องสงสัยสามารถเลือกเองได้ อีกทั้งยังไม่มีสิทธิ์เจอผู้พิพากษาเร็วด้วย เพราะการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกมีเวลาอย่างน้อย 7 วัน
นายอับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวถึงคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ว่า มักจะเริ่มต้นด้วยคดีพิเศษ ซึ่งในคดีความมั่นคงตอนแรกใช้กระบวนการสืบสวนตามปกติ แต่คดียกฟ้องจำนวนมาก จึงมีการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญาในปี2550 ให้รับฟังพยานบอกเล่าด้วย จึงเริ่มมีกระบวนการซักถามในค่ายทหาร และทำเป็นรูปแบบของการสอบสวน การควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก 7 วันแล้วขออำนาจศาลว่าให้ควบคุมตัวต่อหรือไม่ การใช้คดีความมั่นคงใน 3 จังหวัด จะมีบุคคลเป้าหมายของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดถ้าขอควบคุมตัวเต็มที่ได้ 37 วัน และส่วนใหญ่ควบคุมตัวเต็มเวลา โดยที่ญาติเข้าไปเยี่ยมได้ลำบาก และจากข้อมูลที่ญาติให้พบว่ายังมีการซ้อมทรมาน และเมื่อมีการนำตัวขึ้นสู่ศาลก็มีหลักฐานจากกระบวนการพิเศษ และในคดีความมั่นคงจะมีผู้พิพากษาภาค 9 เข้ามาร่วมคณะด้วย.-สำนักข่าวไทย