รร.พลูแมน 10 ต.ค. – สำนักงาน EEC ดึงพันธมิตร ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC One Stop Service นำไอทีบริการ ความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยตามมาตรฐาน ตั้งโรงงานในเขตอีอีซี ใช้เวลาขอใบอนุญาตเหลือ 78 วัน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับพันธมิตร 8 หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC One Stop Service : EEC-OSS ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมที่ดิน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อร่วมกันยกระดับให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรของภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดการใช้เอกสาร รองรับการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ หรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) ของรัฐบาล
สำหรับระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS ได้ปรับปรุงกระบวนงาน ลด ละ เลิก เอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น และยุบรวมใบอนุญาตคล้ายคลึงกัน สามารถลดระยะเวลาได้กว่าครึ่งหนึ่ง และเป็นระบบขออนุมัติ อนุญาต ออนไลน์ สามารถยื่นคำขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานที่ โดยมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้บริการผ่านระบบ EEC-OSS ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว โปร่งใส รวมถึงเป็นการสร้างมาตรฐานให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายของอีอีซีได้รวมกฎหมายการขอใบอนุญาตของ 8 หน่วยงานรัฐ มาร่วมอยู่ในจุดเดียว จึงได้ปฎิรูปการขอใบอนุญาต ณ จุดเดียว สามารถร่นระยะเวลาการตั้งโรงงานต้องขอใบอนุญาต 78 วัน จากเดิมต้องใช้เวลา 150 วัน ลดการยื่นขอใบอนุญาต 60 ใบ และเหลือใบอนุญาตเพียง 40 ใบ เพื่อพัฒนาจากเอกสารกระดาษเปลี่ยนมาเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเฟสต่อไปจะลดเวลาและใบอนุญาตลงไปอีกต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังลดการพบปะเจ้าหน้าที่ในการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพื่อเกิดความโปร่งใสในการยื่นขอใบอนุญาต และเตรียมขยายรูปแบบการให้บริการไปยังเขตเศรษฐกิจอื่น สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ยุคนี้ต้องช่วงชิงความได้เปรียบในการให้บริการหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำให้ต้นทุนลดลงกับภาคเอกชน รัฐบาลจึงต้องปรับตัว อำนวยความสะดวก ต้องใช้ไอทีมาให้บริการ
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากอีอีซีหารือกับภาคเอกชนกลุ่มซีพี ผู้ชนะการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะได้ข้อสรูปและลงนามร่วมกันได้ตามกำหนดเวลา โดยในช่วงบ่ายวันนี้นายอุตต สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับนายศักดิ์สยาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับการรื้อย้ายสาธารณูปโภคในเขตโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และกำหนดแผนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหารือความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการอื่นเพิ่มเติม การเตรียมเสนอ ครม.วันที่ 15 ตุลาคม ให้พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ให้ความเห็นชอบงานสัญญา 2.3 มูลค่า 50,000 ล้านบาท เพื่อนำเรื่องนี้ไปหารือในเวทีสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการนี้ให้ที่ประชุมอาเซียนรับทราบ
น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ สำนักงานอีอีซี กล่าวว่า กรณี WEF รายงานผลดัชนีความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2562 ดีขึ้นจากปี 2561 คะแนน 67.5 เพิ่มเป็น 68.1 แต่อันดับกลับลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ เมื่อได้ปรับปรุงระบบให้บริการ การอำนวยความสะดวก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชัดเจนมากขึ้น เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่เริ่มลงนามหลายโครงการ คาดว่าจะทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย