สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 3 ธ.ค.-โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุ กรธ.อยากเห็นบ้านเมืองมีทิศทางตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง ย้ำแม้รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขยาก แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้ หากสังคมคิดว่าเรื่องใดไม่ถูกต้อง
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดโครงการเสวนา หัวข้อ “ชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาว่า การร่างรัฐธรรมนูญได้ยึดแบบของประเทศที่พัฒนาแล้วทางตะวันตกเป็นหลัก แต่ต้องเข้าใจว่า กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการให้สังคมเดินหน้าไปได้ แต่การเดินหน้าของสังคมจะอาศัยเพียงกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศไทยไม่ได้เหมือนชาติบ้านเมืองอื่น แต่อย่าเพิ่งมองว่าประเทศไทยล้าหลังและพัฒนายาก ตรงกันข้ามคนไทยต่างก็มีความพยายามพัฒนาบ้านเมือง
นายอุดม กล่าวอีกว่า กรธ.คาดหวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจของรัฐได้พอสมควร ความคิดเรื่องการสร้างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ชัดเจนตรงที่ กรธ.ต้องการให้บ้านเมืองมีระเบียบแบบแผน ทำให้อำนาจดิบอยู่ในระเบียบแบบแผนเดียวกัน ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น การแก้ปัญหาการทุจริตก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากบางแบบแผนฝืนธรรมชาติของคนในสังคม โดยเฉพาะระบบตระกูล ชนชั้น กลุ่มบุคคล การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ และรัฐธรรมนูญก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้ให้เข้าสู่ระบบและมีเหตุผลมากขึ้น เดิมสิ่งที่ กรธ.บอกกับสังคม คือ ขอเขียนรัฐธรรมนูญแบบสั้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใจในหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย แต่ยอมรับว่า มีแรงกดดันจากภายนอกว่าจะไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ หาก กรธ.เขียนแตกต่างไปจากเดิม ซึ่ง กรธ.ตระหนักดีว่าต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
“หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องใหม่ มีสถาบันและองค์กรอิสระที่ทุกคนคุ้นเคย แต่สิ่งที่ กรธ.พยายามทำ คือ ให้องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยและองค์กรที่ใช้อำนาจบังคับฝ่ายปกครองตอบสนองต่อความต้องการของสังคมมากขึ้น และอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของการเขียนรัฐธรรมนูญ คือ ทำอย่างไรให้รัฐมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากบุคคลที่เป็นผู้ถืออำนาจปกครอง แยกส่วนตัวออกจากเรื่องส่วนรวม หน้าที่ต้องมาก่อนอำนาจ รัฐมนตรีหรือนักการเมือง ต้องคิดถึงสิทธิเสรีภาพของคนในสังคมว่าต้องการสิ่งใด หากรัฐจะคิดถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็ต้องคิดถึงหน้าที่ของรัฐด้วย กรธ.จึงได้กำหนดหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องร้องขอ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการ” นายอุดม กล่าว
นายอุดม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจกันเองและกับบุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจ กรธ.ได้ออกแบบให้การทำงานมีการตรวจสอบ ความชัดเจนในการทำงานแต่ละองค์กรที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมาผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจอย่างเกินเลย รัฐธรรมนูญนี้ จึงเขียนในทางที่บีบรัด ไม่ว่าจะคุณสมบัติหรือการทำงาน จนถึงขั้นที่กำหนดว่าหากทำอะไรไม่ดีในบางเรื่อง ก็จะมีโทษประหารชีวิต ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบก็ต้องรู้เท่าทันผู้ที่ถูกตรวจสอบ และมองเหตุการณ์ในอนาคตได้
“กรธ.พยายามเขียนร่างรัฐธรรมนูญให้สร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ใช้ได้จริง สร้างกลไกให้เกิดระบบผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน สร้างกลไกกลั่นกรองผู้ที่จะเป็นผู้แทนของประชาชน สร้างกลไกที่เปิดเวทีให้กับความเห็นที่แตกต่าง สร้างกลไกควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ สร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ สร้างกลไกปฏิรูปบ้านเมืองให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เนื่องจากอยากเห็นบ้านเมืองมีทิศทางตามยุทธศาสตร์ชาติ ผู้มีหน้าที่ทางการเมืองอาจรู้สึกถูกบังคับ แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่การบังคับ เพราะความสำเร็จในการปฏิรูปก็ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของวิเศษที่จะบันดาลทุกอย่างให้ แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมจะมาร่วมกันคิดกติกาให้เป็นแนวทางร่วมกันได้ แม้รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขได้ยาก แต่ท้ายที่สุด สังคมจะเป็นผู้ตัดสินใจ หากสิ่งใดที่คิดว่าไม่ถูก ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้” นายอุดม กล่าว.-สำนักข่าวไทย