กทม.17ก.ย.-รองผู้ว่าฯกทม.สุ่มตรวจจุดจับ-ปรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า หลังยังพบผู้กระทำผิดต่อเนื่อง แม้จะเริ่มโทษปรับอัตราใหม่เป็น 2 พันบาท โดยเดือน ส.ค.62 มียอดปรับ 2.5 ล้าน และก.ย.ได้ค่าปรับแล้ว 1.5 ล้านบาท วันเดียวกันลงพื้นที่กวดขันจุดจัดระเบียบทางเท้า ยังพบผู้ค้าตั้งแผงค้าบนทางเท้ารุกล้ำทางสาธารณะ
วันนี้(17ก.ย.)นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ตรวจจุดจับ-ปรับ ผู้จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าและกวดขันการจัดระเบียบทางเท้า ในพื้นที่สำนักงานเขตกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ(เขตจตุจักร) และสำนักงานเขตกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตดินแดง เขตห้วยขวาง) โดยมีนายสมศักดิ์ ชาติสุขศิริเดช ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม.นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อตรวจความเรียบร้อยพื้นที่การจัดระเบียบทางเท้าบริเวณจุดจับ-ปรับ ผู้จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าและกวดขันการจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยลงพื้นที่ซุ่มตรวจทุกจุดในบริเวณถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว และอีกหลายจุดในบริเวณใกล้เคียง จุดแรก คือจุดจับ-ปรับผู้จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า บริเวณแยกรัชดาภิเษก-ลาดพร้าว ตรงข้ามตลาดสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ ซึ่งเป็นจุดที่พบผู้กระทำความผิดบ่อยครั้ง จากการตั้งจุดจับ-ปรับดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.45 น. พบผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าแล้วจำนวน 5 ราย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ กทม.เริ่มโทษปรับอัตราใหม่เป็น 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 62 มียอดปรับในเดือนส.ค.62 ประมาณ 2.5 ล้านบาท ส่วนในเดือนก.ย.62 ได้ค่าปรับแล้วประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยสามารถจับปรับได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้นำเรียนพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ให้ทราบถึงผลการดำเนินการแล้ว
รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากทม.ได้ดำเนินการตามกระบวนการทุกขั้นตอนแล้ว แต่ในภาพรวมยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงสั่งการให้ฝ่ายเทศกิจในแต่ละพื้นที่ดำเนินการกวดขันอย่างต่อเนื่องโดยให้เปลี่ยนจุดจับ-ปรับไปเรื่อยๆ และแบ่งเจ้าหน้าที่เป็นชุดย่อยเวียนไปตามจุดต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการหาผู้กระทำผิด
ส่วนการที่มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เรียกร้องให้สร้างทางพิเศษเพื่อรถ จักรยานยนต์ในอุโมงค์และสะพานต่างๆเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุนั้น จากการหารือร่วมกับนักวิชาการ เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้างถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางลักษณะดังกล่าว เนื่องจากอุโมงค์และสะพานในกรุงเทพฯ ได้ออกแบบมานาน ไม่สามารถขยายได้แล้ว หากอนุญาตให้รถจักรยานยนต์ใช้เส้นทางดังกล่าวก็จะเกิดอันตราย อย่างไรก็ดีจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้และวิธีแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
หลังจากนั้นรองผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่จุดที่ 2 บริเวณทางเท้าหน้าตลาดนัดเมืองไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง พบผู้ค้าตั้งแผงค้าบนทางเท้ารุกล้ำทางสาธารณะประมาณ 5 ราย จึงให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตักเตือนถึงการกระทำผิด
จุดที่ 3 บริเวณทางเท้าถนนรัชดาภิเษก ช่วงระหว่าง Big C Extra กับ บริษัท ไทยประกันชีวิต (มหาชน) เขตดินแดง พบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยตั้งแผงค้าบนทางเท้ารุกล้ำทางสาธารณะ จำนวน 5 ราย ซึ่งมีจำนวนน้อยลงและจุดสุดท้าย บริเวณทางเท้าโดยรอบตลาดห้วยขวาง เขตดินแดง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางสัญจรและการจราจรบริเวณโดยรอบติดขัด
จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย และผู้ประกอบการร้านค้า ตั้งวางแผงค้ากีดขวางทางสัญจรและรุกล้ำทางสาธารณะเล็กน้อย จึงมอบ หมายเจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่ดำเนินการตักเตือน จัดระเบียบ ตรวจตรา กวดขันให้ผู้ค้าถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้าขายในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีการตั้งวางแผงค้าและอุปกรณ์การค้ากีดขวางทางสัญจรของประชาชน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในการสัญจรบนทางเท้า .-สำนักข่าวไทย