กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – เครือข่ายต้านสารพิษ 686 องค์กร บุกกระทรวงเกษตรฯ พรุ่งนี้ ทวงสัญญายกเลิกสารเคมี 3 ชนิดสิ้นปีนี้
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) เครือข่ายต้านสารเคมีวัถตุอันตรายทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด 686 องค์กรจะมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อเข้าพบ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนให้มีการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส สิ้นปีนี้ ตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้ รวมทั้งได้ให้นโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการกรมวิชาการเกษตรเมื่อเข้ารับตำแหน่ง
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายกว่า 30 คนมาเข้าพบครั้งนี้ เพื่อต้องการจะเสนอแนะต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับการหามาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรโดยไม่ใช้สารพิษร้ายแรง ทั้งนี้ กรณีที่ รมช.เกษตรฯ จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบการใช้สารเคมี 3 ชนิด ภายใน 15 วันนั้น ทางเครือข่ายไม่เห็นด้วย เพราะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบหลายชุดแล้ว กระทรวงสาธารณสุขมีผลสรุปชัดเจนว่ามีผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ให้คณะกรรมการชุดของ รมช.เกษตรฯ มุ่งไปสู่การหามาตรการทดแทนการใช้สารเคมีและมาตรการสนับสนุนเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีทำเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี
สำหรับมาตรการทดแทนมีหลายมาตรการ เช่น การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร การจัดระบบปลูกพืช การใช้พืชคลุมดิน ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตรมีงานวิจัยและมาตรการการทดแทนใช้สารเคมีจำนวนมาก แต่กระทรวงเกษตรฯ ไม่นำเสนอ ขณะนี้มีตัวอย่างของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ทำเกษตรประสบความสำเร็จ โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ มากมาย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ไม่สนใจวิธีการเหล่านี้ อีกทั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ไม่ดำเนินการสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกร จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ อย่าโยนภาระให้กระทรวงอื่นในเรื่องการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตราย เพราะเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรโดยตรง เป็นหน่วยงานอนุญาตนำเข้าสารเคมี รวมทั้งจะเสนอให้มีการยกเลิกตามขั้นตอนไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับข้อเสนอถึงการกำหนดทางเลือกและวิธีทดแทนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงและมาตรการสนับสนุนเกษตร บางส่วนที่ต้องการทำเกษตรปลอดสารเคมี สำหรับเกษตรกรบางกลุ่มบอกว่า ถ้าใช้เครื่องจักรกลจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จึงต้องมีทางเลือกทดแทนไว้ให้ด้วย
“ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลจริงจังยกเลิกใช้สารพิษทางการเกษตรหรือไม่ อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ตัวเองของ รมช.มนัญญาด้วย ทราบมาว่า หน่วยงานปฏิบัติไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว ดังนั้น การขับเคลื่อนของประชาชนจะมีผลให้ตัดสินใจเรื่องนี้ ถ้าไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบทางการเมืองทันที พรุ่งนี้มาพบรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการยกเลิกสารพิษร้ายแรงทางการเกษตรภายในสิ้นปีนี้” นายวิฑูรย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย