กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ กำชับกรมชลประทานจัดการจราจรน้ำชี-มูล เร่งผลักดันน้ำออกแม่น้ำโขง เผยนายกฯ ห่วงใยประชาชน ตรวจเยี่ยมการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยยโสธร-อุบลราชธานีพรุ่งนี้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดคลี่คลายแล้ว แต่ยังน่าเป็นห่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งลุ่มน้ำชียังท่วมสูง จึงสั่งการกรมชลประทานให้จัดการจราจรน้ำไม่ให้น้ำจากแม่น้ำทั้ง 2 สายไหลไปรวมกันในเวลาเดียวกันที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อที่จะเร่งระบายแม่น้ำชีออกสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยอย่างยิ่ง จึงจะเดินทางไปมอบนโยบายการแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่จังหวัดยโสธรและอุบลราชธานีวันพรุ่งนี้ (9 ก.ย.)
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานว่าเข้าสู่ภาวะปกติ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สระแก้ว ชุมพร และระนอง ส่วนยังประสบภัย 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร นครพนม และศรีสะเกษ จึงได้กำชับให้เร่งระบายน้ำและอำนวยความสะดวกประชาชนทุกด้านด้วย
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมสูง คือ ยโสธรและอุบลราชธานีจึงจัดการจราจรน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี โดยลดบานระบายเขื่อนราษีไศล จังหวังศรีสะเกษ เพื่อชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลแล้วเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีที่มีปริมาตรน้ำมากขณะนี้ให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยเร็ว สำนักงานชลประทานที่ 6 ควบคุมบานระบายที่เขื่อนชนบทและเขื่อนมหาสารคามเพื่อชะลอน้ำที่จะไปเติมด้านล่าง รวมถึงหยุดการระบายน้ำเขื่อนลำปาว ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จากวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 300,000 ลบ.ม. และปรับลดการระบายน้ำผ่านฝายหนองหวายจากเดิมวันละ 450,000 ลบ.ม. เหลือวันละ 200,000 ลบ.ม. ส่วนเขื่อนวังยางและเขื่อนร้อยเอ็ดได้ยกบานพ้นน้ำ ในลำน้ำปาวและลำน้ำยังที่น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ อีกทั้งติดเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมอยู่ในพื้นที่ไหลลงแม่น้ำชีได้อย่างสะดวกก่อนที่จะไหลไปลงแม่น้ำมูล
ด้านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่างรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่รับผิดชอบ ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ รวม 10 อำเภอ 61 ตำบล พื้นที่ 304,438 ไร่ ยโสธร น้ำหลากจากลำน้ำยังและจากการะบายน้ำเพิ่มเติมจากเขื่อนร้อยเอ็ดส่งผลให้ระดับน้ำลำน้ำชีสูงขึ้นและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรอำเภอพนมไพร ค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัยและอำเภอเมือง ส่วนน้ำหลากจากการะบายน้ำเพิ่มเติมจากเขื่อนลำเซบายส่งผลน้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเขื่องในและอำเภอเมือง
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ลำน้ำชีที่เขื่อนยโสธรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเขื่อนธาตุน้อย และระดับน้ำที่เขื่อนลำเซบาย จังหวัดอุบลราชธานี แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำทุกเขื่อน บริเวณที่ระดับน้ำในลำน้ำสูงได้นำกระสอบทรายไปเสริมพนังกั้นน้ำ รวมทั้งได้ติดตั้งสะพานชั่วคราว (สะพานเบลี่ย์) ที่ทางหลวงหมายเลข 3127 บริเวณบ้านหนองกู่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ถูกน้ำกัดเซาะขาดพังลง ขณะนี้ติดตั้งสะพานชั่วคราวเรียบร้อย ทำให้ถนนกลับมาใช้สัญจรได้เป็นการอำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีเกษตรฯ
ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 359,243 ไร่ ใน 20 อำเภอ พื้นที่ที่ยังน่าเป็นห่วง ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ โพนทอง สุวรรณภูมิ จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 54 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำอีก 43 เครื่อง รวมทั้งเครื่องจักรเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังนำรถบรรทุกออกบริการประชาชน แพทย์ พยาบาลอาสา รับ-ส่งนักเรียน จิตอาสาที่นำสิ่งของมาแจก และช่วยบรรทุกหญ้าที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวมาไว้เลี้ยงสัตว์ที่ติดอยู่ในหมู่บ้านตำบลนาแซง อำเภอเสลภูมิ รวมทั้งนำของใช้ อาหาร และน้ำดื่มเข้าไปแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นด้วย.-สำนักข่าวไทย