กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเร่งช่วยเหลือประชาชนประสบอุทกภัยจากพายุโพดุล 12 จังหวัด จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ด้านกรมชลประทานระดมเครื่องจักร-เครื่องมือเร่งสูบและเปิดทางน้ำเพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังทั้งในพื้นที่เกษตร ถนนหนทาง รวมทั้งป้องกันพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจทั่วประเทศ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการด่วนที่สุดให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้รายงานสถานการณ์น้ำและผลการปฏิบัติการทุก 3 ชั่วโมงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย จังหวัดที่ประสบอุทกภัยมี 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร สระแก้ว ชุมพร และระนอง
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) สรุปสถานการณ์จังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 1 อำเภอ คือ ตำบลบ้านมุงและวังยาง อำเภอเนินมะปราง ซึ่งได้เร่งสูบน้ำออก คาดว่าหากปริมาณฝนลดน้อยลง สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน จังหวัดยโสธรเกิดฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณอำเภอป่าติ้ว ทำให้น้ำจากลำเซบายล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรที่บ้านกุดสำโรง ตำบลศรีฐาน ชุมชนบ้านโพธิ์ไทร ตำบลโพธิ์ไทร และบ้านแซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 7 วัน จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ผลกระทบน้ำท่วมที่บ้านพรมสว่าง ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ 200 ไร่ และบ้านหนองห้าง ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ 120 ไร่ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตร
จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่น้ำท่วมด้านฝั่งซ้ายของลำน้ำยังที่ความสูงประมาณ 1.78 เมตร พื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 6,300 ไร่ บ้านโนนเชียงหวาง บ้านหนองบุ่ง ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง และบ้านนาวี ตำบลศีวิลัย บ้านดงแจ้ง บ้านหนองจอก บ้านหนองผักตบ ตำบลเหล่าน้อย อำเภอเสลภูมิ และฝั่งด้านในคันพนังกั้นน้ำกม. 6+600 บริเวณบ้านท่าทางเกวียนได้รับผลกระทบน้ำท่วม 300 ไร่ โครงการชลประทานร้อยเอ็ดนำเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่องเร่งสูบน้ำออก พร้อมนำรถแบ็คโฮ 2 คันเปิดทางน้ำ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำในลำน้ำยังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีน้ำล้นข้ามพนังกั้นน้ำบริเวณ กม. 12+000 ก่อนที่พนังกั้นน้ำจะทรุดตัวและขาดลงเมื่อช่วงเช้า ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำยังที่สถานี E.92 ใกล้จุดที่พนังขาดสูงกว่าระดับคันพนังกั้นน้ำประมาณ 2.64 เมตร ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านช่องที่ขาดนี้ จะไหลลงไปสมทบกับน้ำในพื้นที่ลงสู่ตอนล่าง ก่อนจะไหลลงสู่ลำน้ำยังและแม่น้ำชีตามลำดับ
สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำสะพานแบลี่มาติดตั้งเพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรชั่วคราว จากนั้นจะดำเนินการซ่อมแซมภายหลัง สำนักเครื่องจักรกลได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง บริเวณสะพานข้ามลำน้ำยังที่บ้านกุดเรือ ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ เพื่อเร่งอัตราการไหลของน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำชีให้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งสูบระบายน้ำออกจากบึงเกลือเพื่อรองรับน้ำจากการตัดยอดน้ำในลำน้ำยังที่จะไหลลงมาเพิ่มเติม ขณะที่เขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธรและเขื่อนธาตุน้อย จังหวัดอุบลราชธานียกบานประตูน้ำพ้นน้ำทุกบานแล้ว เพื่อให้น้ำในแม่น้ำชีไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ขุดเปิดคันพนังกั้นน้ำท้ายสะพานบ้านบาก เพื่อเร่งระบายน้ำที่ล้นจากบึงเกลือให้ไหลลงสู่แม่น้ำชีเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการขยายตัวของพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันคันพนังกั้นน้ำลำน้ำยังไม่ให้ขาดได้อีก
ส่วนในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ฝนที่ตกหนักมากทำให้น้ำท่วมถนนสูง 50-120 เซนติเมตร รถเล็กผ่านไม่ได้ ต้องปิดการสัญจรชั่วคราว โดยน้ำท่วมถนนข้าวหอมมะลิติดกับบึงพลาญชัยตั้งแต่ประตูสาเกตนครเป็นต้นไปและท่วมทางวิ่งออกกำลังกายของประชาชนรอบบึงพลาญชัยสูงกว่า 1 เมตร ถนนเพลินจิตรมีน้ำท่วมด้านข้างไปรษณีย์จังหวัด ถนนสุริยะเดชบำรุงหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด รวมทั้งตรอกซอกซอยมีน้ำท่วมสูง มีปริมาณน้ำไหลเข้าท่วมโรงเรียนอนุบาลโพนทอง อำเภอโพนทองซึ่งกำลังเร่งสูบน้ำออก คาดว่า จะระบายน้ำได้หมดใน 1-2 วัน
จังหวัดอุดรธานีน้ำท่วมบริเวณโรงเรียนบ้านหมากแข้งและบริเวณสะพานคลองผันน้ำ อำเภอเมือง น้ำกัดเซาะทำให้คอสะพานฝั่งขวาชำรุด รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โครงการชลประทานอุดรธานี นำรถแบ็คโฮ 2 คัน มาเปิดทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี น้ำในลำเซบกไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำริมตลิ่งลำเซบกตอนบน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ คือ อำเภอม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งน้ำเอ่อล้นตลิ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเซบกตอนบน โครงการชลประทานอุบลราชธานีช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงและเร่งระบายน้ำออก ส่วนสถานการณ์อาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยแจระแม บ้านหนองแก ตำบลแจระแม อำเภอเมือง ความจุ 744,000 ลบ.ม. ซึ่งได้ถ่ายโอนให้เทศบาลตำบลแจระแมเมื่อปี 2546 ชำรุดเสียหาย เกิดการกัดเซาะจนไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เกิดการพังทะลายกว้างประมาณ 10 เมตรทำให้ปริมาณน้ำในอ่างไหลลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำคือ ลำมูลน้อย แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูล ไม่มีบ้านเรือนประชาชนหรือพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ทางโครงการชลประทานอุบลราชธานีได้แจ้งให้จังหวัด ปภ.จังหวัดและเทศบาลตำบลแจระแมทราบแล้ว
จังหวัดอำนาจเจริญน้ำในลำเซบายและลำห้วยสาขาเพิ่มระดับสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอเสนางคนิคมรวมพื้นที่จำนวน 3,718 ไร่ ได้เร่งระบายน้ำออก หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ปกติใน 3-4 วัน จังหวัดมุกดาหารมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนรวม 4 อำเภอได้แก่ อำเภอคำชะอี นิคมคำสร้อย ดอลตาล และอำเภอเมืองรวม 12,880 ไร่ กำลังเร่งสูบน้ำออก คาดว่า สถานการณ์จะเข้าสู่ปกติใน 1-2 วัน จังหวัดสกลนครน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนนาแก้วและโคกศรีสุพรรณ เนื่องจากระดับน้ำในลำน้ำก่ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น โครงการชลประทานสกลนครติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่องบริเวณสะพานบ้านด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ เพื่อเร่งการระบายน้ำในลำน้ำก่ำสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำและเรียงกระสอบทรายบริเวณพนังกั้นน้ำต่ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการไหลข้ามคันเข้าสู่พื้นที่การเกษตรบริเวณอำเภอโพนนาแก้ว
จังหวัดสระแก้ว ฝนตกหนักบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา วัดได้ 174.4 มิลลิเมตร ทำให้น้ำท่วม 2 จุด ได้แก่ บริเวณสะพานคลองโป่งดาวเรือง กม.16+450 น้ำท่วมสูงประมาณ 40 เซนติเมตร มีน้ำท่วมสวนยูคาลิปตัสประมาณ 100 ไร่และบ้านเรือน 3 หลัง ปริมาณน้ำเริ่มลดลง หากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่ปกติใน 1 วัน จังหวัดชุมพรมีฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำคลองชุมพรที่สถานีบ้านหนองตำเสา อำเภอเมืองชุมพรทำให้น้ำล้นตลิ่งที่คลองชุมพร บริเวณ สถานี X.53A บ้านวังไผ่ และสถานี X.201A บ้านท่าไม้ลาย โครงการชลประทานชุมพรติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 ชุด บริเวณตำบลวังไผ่ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 ชุด บริเวณตำบลตากแดดเพื่อเร่งระบายน้ำออก
จังหวัดระนอง น้ำในคลองน้ำจืดไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนหน้าตลาด บ้านน้ำจืด ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรีเกิดผลกระทบต่อราษฎรประมาณ 100 หลังคาเรือน โครงการชลประทานระนองติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของชุมชนเพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่
“กรมชลประทานระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมทุกพื้นที่และเฝ้าระวังทุกจุดเสี่ยงตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของรัฐมนตรีเกษตรฯ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1460 กรมชลประทานจะเข้าไปช่วยเหลือด่วนที่สุด” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย