19 ส.ค. – คณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เตรียมเสนอแผนอนุรักษ์พะยูนไทย ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนให้ได้ร้อยละ 50 ใน 10 ปี วอนสังคมลดละเลิกใช้ขยะพลาสติก
หลังเจ้าหน้าที่นำซากพะยูน้อย “มาเรียม” วัย 9 เดือน ออกจากช่องแช่แข็งที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลตรัง มาล้างทำความสะอาด บรรจุร่างลงในถังพลาสติกแช่ด้วยน้ำแข็งแห้ง ก่อนนำไปขึ้นเครื่องบินกองทัพเรือ ลำเลียงมาถึงกรุงเทพฯ และส่งไปที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลอง 5 ปทุมธานี เพื่อเตรียมสตัฟฟ์แล้ว หลังจากนั้นจะนำไปจัดแสดงไว้ที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อเปิดให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากอย่างยั่งยืน
ตั้งเป้าเพิ่มพะยูนไทยร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี
ในการประชุมคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีวาระสำคัญแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ และแผนการอนุรักษ์สัตว์สัตว์สงวน 4 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ เต่ามะเฟือง และฉลามวาฬ
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์พะยูนไทยสำรวจพบมากที่สุดในจังหวัดตรัง ประมาณ 200 ตัว หากรวมกับพื้นที่อื่นทั่วประเทศมีประมาณ 250 ตัว ในปีนี้พบพะยูนเกยตื้น 16 ตัว ตายไปแล้ว 15 ตัว รวมมาเรียมด้วย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปีที่พบการตายเพียงปีละ 10-12 ตัว ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติมาก สาเหตุสำคัญมาจากเครื่องมือประมงร้อยละ 90 รองลงมาเป็นผลจากขยะพลาสติก
อีกทั้งยังมีการเสนอแผนพะยูนโมเดล ตั้ง 3 เป้าหมาย คือ
1.แผนจัดการพื้นที่แหล่งอาศัยของพะยูน 12 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเสนอลดหรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบต่อการอาศัยของพะยูนให้ได้ภายใน 2 ปี เพื่อลดการสูญเสียจากเดิมร้อยละ 50 ควบคู่กับการช่วยเหลือให้ชาวประมงอยู่ได้อย่างความยั่งยืน และเป็นแนวร่วมในการดูแลพะยูน
2.แผนดูแลพะยูนในแหล่งธรรมชาติทั้งหมด ตั้งเป้าภายใน 10 ปี จะต้องเพิ่มจำนวนพะยูนให้ได้ร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้มีประชากรเพิ่มเป็น 375 ตัว
3. แผนมาเรียมโปรเจกต์ จะเสนอต่อ ครม. ให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันพะยูนแห่งชาติ มีกิจกรรมอนุรักษ์พะยูน ลดการใช้การทิ้งขยะพลาสติก รวมทั้งเสนอตั้งกองทุนมาเรียม ส่งเสริมการอนุรักษ์พะยูนในทุกๆ ด้าน
พร้อมทั้งจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งร้อยละ 80 มาจากบกลงสู่แม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเล ทุกคนจึงมีส่วนในการผลิตขยะทะเลทั้งนั้น ทั้งหมดนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการทะเลแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เร่งสำรวจหญ้าทะเล ทำแผนอนุรักษ์พะยูน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจหญ้าทะเลบริเวณเกาะไม้งาม ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เบื้องต้นพบหญ้าทะเลใบพาย และร่องรอยการกินของพะยูน จึงเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหากินของฝูงพะยูนอีกหนึ่งแหล่งของ จ.กระบี่ การสำรวจครั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการพิสูจน์สาเหตุการตายของพะยูนเพศผู้ วัย 25 ปี ที่อ่าวไร่เลย์ตะวันตก ต.อ่าวนาง เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) พบว่าติดเชื้อจากบาดแผลบริเวณช่องท้อง จากเศษเงี่ยงปลากระเบน ยาว 15 ซม. ที่พะยูนกลืนลงไปเสียบติดอยู่ในช่องท้อง และพบเศษขยะพลาสติกในระบบทางเดินอาหาร
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ระบุการสำรวจตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบัน พบพะยูนเกยตื้นในทะเลไทยแล้ว 441 ตัว พบมากสุดที่ จ.ตรัง รองลงมาคือ กระบี่ พังงา ระยอง และภูเก็ต ถือเป็นตัวเลขการสูญเสียที่น่าเป็นห่วง. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►ถอดบทเรียน “มาเรียม” สู่การดูแลสัตว์ทะเลหายาก
►สัตวแพทย์ระบุต้องจัดการขยะพลาสติกในแหล่งหญ้าทะเล