นิวเดลี 25 ก.ค.- กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินเดียแสดงความกังวลเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวและการเฝ้าจับตาผู้คน หลังจากทางการนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ที่ท่าอากาศยานสองแห่งและมีแผนจะใช้ตามสถานีตำรวจด้วย
ทนายความกลุ่มมาตรา 19 ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินเดียเผยว่า หน่วยงานที่ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ามีอำนาจเต็มในการจะทำอะไรก็ได้กับข้อมูลของประชาชน เพราะอินเดียไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลหรือกรอบเรื่องการเฝ้าระวังทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดช่องให้มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวและการทำตามอำเภอใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีไม่แม่นยำและเชื่อถือไม่ได้เลย แม้ศาลฎีกามีคำชี้ขาดในปี 2560 เรื่องโครงการบัตรประจำตัวข้อมูลทางชีวภาพแห่งชาติว่า ความเป็นส่วนตัวของบุคคลคือสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบการใช้งานเทคโนโลยีที่ขัดต่อสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและหลักการความยุติธรรมทางอาญาได้ และถึงแม้นโยบายการเดินทางของรัฐบาลกำหนดไว้ว่า การนำข้อมูลทางชีวภาพของผู้โดยสารไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารซึ่งมีสิทธิเลือกที่จะไม่อนุญาตได้ แต่คนส่วนใหญ่มักเลือกความสะดวกสบายหากไม่เห็นว่ามีความเสียหายที่จับต้องได้
อินเดียเปิดตัวเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเมื่อไม่กี่วันก่อนที่ท่าอากาศยานเบงกาลูรู ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของเมืองบังกาลอร์ เมืองเอกของรัฐกรณาฏกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สามารถระบุตัวตนผู้โดยสารโดยไม่ต้องตรวจสอบเอกสารกระดาษอย่างหนังสือเดินทางและบัตรที่นั่งบนเครื่องบิน ขณะที่ท่าอากาศยานไฮเดอราบัด เมืองเอกของรัฐอานธรประเทศ ทางใต้ของประเทศกำลังทดสอบเทคโนโลยีนี้อยู่ และเมื่อไม่นานมานี้กระทรวงมหาดไทยอินเดียได้เปิดประมูลผู้จัดทำระบบเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงกรมตำรวจให้ทันสมัย รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลและกระบวนการระบุตัวตนทางอาญาด้วย
ด้านโฆษกท่าอากาศยานเบงกาลูรูกล่าวว่า เทคโนโลยีจดจำใบหน้ามีความปลอดภัยในระดับสูงสุดและรับประกันเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด เพราะจะใช้ข้อมูลทางชีวภาพเพื่อตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้โดยสารเท่านั้น หลังจากนั้นจะลบข้อมูลภายในไม่กี่ชั่วโมงที่เที่ยวบินถึงที่หมาย.- สำนักข่าวไทย