กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – ก.พลังงานย้ำส่งเสริมพลังงานทดแทนในแผนพีดีพี 2018 โดยสิ้นปี 2580 จะมีกำลังผลิตร้อยละ 33 ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ หรือมีถึง 29,358 เมกะวัตต์ โดยอาจจะเปิดรับซื้อโซลาร์ฟาร์มรูปแบบ FIRM IPP ขณะที่ไฟฟ้าขยะชุมชนเปิดรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ โดย มท.เป็นผู้กำหนดพื้นที่
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากข่าวว่ากระทรวงพลังงาน ไม่สนับสนุนพลังงานทดแทน โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (พีดีพี 2018) ปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงนั้น เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะหากเปรียบเทียบกับแผนเดิมระหว่างร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP2018) กับแผนเดิม AEDP 2015 พบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 โดยสิ้นปี 2580 กำลังผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะมีกำลังผลิตเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 33 ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมที่ 77,211 เมกะวัตต์ หรืออยู่ที่ 29,358 เมกะวัตต์ โดยรวมแล้วในแผนใหม่จะมีการรับซื้อพลังงานทดแทนรวม 18,969 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโอกาสของการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าคงจะเป็น FIT ที่ไม่เกิน 2.44 บาท/หน่วย (ตามเกณฑ์การประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลเอสพีพีไฮบริดที่ประมูลไปแล้ว) ยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่จะรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2565 ที่ราคาจะสูงกว่า โดยแยกเป็นประเภทเอสพีพี (ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์) ราคา 20 ปีที่ 3.66 บาท/หน่วย ส่วนกำลังผลิตขนาดเล็กกว่า 10 เมกะวัตต์ สัญญาไฟฟ้า 20 ปี จะแยกเป็น 8 ปีแรก ราคารับซื้อ 5.78 บาท/หน่วย หลังจากนั้นราคาจะอยู่ที่ 5.08 บาท/หน่วย โดยพื้นที่รับซื้อและกำลังผลิตแต่ละโครงการจะถูกกำหนดโดยกระทรวงมหาดไทย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในส่วนของแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนเดิม ณ ปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 12,725 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตใหม่นั้น ขณะนี้ถูกกำหนดเพียง 3,725 เมกะวัตต์ แยกเป็นการซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน 1,000 เมกะวัตต์ (ซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ) และโซลาร์รูฟท็อปลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์ โดยอีก 9,000 เมกะวัตต์ จะรอให้ รมว.พลังงานคนใหม่มาตัดสินใจว่าจะรับซื้อในรูปแบบใด โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอว่าให้กำหนดรับซื้อโซลาร์ฟาร์มร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบกำลังผลิตไอพีพี แบบ FIRM เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลมีแผนจะติดตั้งใหม่ อีก 3,496 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้จะมีการเปิดรับซื้อเข้าระบบรอบแรกปี 2564 ในส่วนของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพจะกำหนดให้เข้าระบบปี 2565 เช่นกัน โดยตามแผนใหม่จะรับซื้อเพิ่มอีก 546 เมกะวัตต์ ,ส่วนเชื้อเพลิงอื่น ๆ มีการรับซื้อพลังงานอีก 1,485 เมกะวัตต์ ,ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ , ส่วนก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานและพลังน้ำขนาดเล็กไม่ได้กำหนดในแผน เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตไม่ชัดเจนจากพืชพลังงาน , ขณะที่พลังน้ำขนาดเล็กติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยการจัดทำแผน AEDP2018 ในภาพรวมนั้น ปัจจุบัน พพ.อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั่วประเทศ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2562. -สำนักข่าวไทย