กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – รมว.เกษตรฯ เปิดทางเอกชนฟ้องศาลปกครองเสียสิทธิ์ขายน้ำยางพาราผสมสาร ด้าน กยท.ย้ำน้ำยางข้นต้องได้มาตรฐาน
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขอชี้แจงทำความเข้าใจกรณีที่มีผู้ประกอบการบางรายร้องเรียนว่า การดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร มีความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองมาตรฐานน้ำยางผสมสารเพิ่มและสารผสมเพิ่ม ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับการรับรอง 3 ราย
นายเยี่ยม กล่าวว่า โครงการทำถนนผสมยางพาราเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพและส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง เป็นการนำน้ำยางพารามาใช้สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ในหมู่บ้าน จากที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมามีข้อคิดเห็นจากผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นควรให้มีการรับรองคุณภาพมาตรฐานวัสดุที่ใช้ในการทำถนนพาราซอยซีเมนต์ ได้แก่ น้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม เนื่องจากเป็นวัสดุชนิดใหม่และมีผลโดยตรงต่อมาตรฐานหรือข้อกำหนดของถนนชนิดนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เป็นผู้จัดจ้างทำถนน เช่น กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพวัสดุว่าจะเป็นไปตามคู่มือแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับงานท้องถิ่นของกรมทางหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม มีเจตนาเพื่อรับรองบริษัทที่มีผลงานเป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วกัน แต่ไม่ได้บังคับให้หน่วยงานใดจะต้องมาซื้อกับบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการชุดนี้
ทั้งนี้ หากบริษัทใดสามารถผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม ได้ตามมาตรฐานของหลักวิศวกรรมที่คู่มือกำหนดไว้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการฯ สามารถให้หน่วยงานทางวิศวกรรมอื่นรับรองได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างคู่สัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างถนน และบริษัทจะไม่เสียสิทธิในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่สิ่งสำคัญ คือ จะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุฯ ที่กรมบัญชีกลางประกาศไว้และถนนที่สร้างต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานกรมทางหลวงกำหนดเท่านั้น
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หากบริษัทใดเห็นว่าการกำหนดวิธีการรับรองมาตรฐานวัสดุของคณะกรรมการฯ ไม่ถูกต้อง ทำให้เสียสิทธิ์สามารถฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการได้และหากเห็นว่าคณะกรรมการฯ มีเจตนาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถฟ้องคณะกรรมการฯ ทั้งทางอาญาและแพ่งได้เช่นกัน
สำหรับน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม (Preblend) สำหรับงานดินซีเมนต์ หมายถึง น้ำยางพาราข้น (Concentrated Latex) ผสมกับสารลดแรงตึงผิวหรือสารเคมีอื่นใดที่เติมในน้ำยางพาราข้น เพื่อปรับเปลี่ยนคุณสมบัติบางประการของน้ำยางพารา โดยทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้อนุภาคของยางพาราจับตัวกันก่อนที่จะทำการผสมกับวัสดุมวลรวมได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา.-สำนักข่าวไทย