โตเกียว 3 ก.ค.- ทางการญี่ปุ่นสนับสนุนการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านสมาร์ทโฟนและใช้จ่ายไร้เงินสด หวังกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญี่ปุ่นจะขึ้นภาษีขายจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งอาจทำให้คนใช้จ่ายลดลง
รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้คะแนนเพื่อแลกรับส่วนลดในอนาคตแก่ผู้จับจ่ายที่ใช้คิวอาร์โค้ดและการชำระเงินแบบไร้เงินสดเป็นเวลานาน 9 เดือนหลังปรับขึ้นภาษีขายในเดือนตุลาคม ตั้งงบประมาณสำหรับโครงการนี้ไว้ 280,000 ล้านเยน (ราว 79,545 ล้านบาท) และจะประเมินผลอีกครั้งในปีงบประมาณหน้าที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นอกจากนี้กระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้ตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมไร้เงินสดเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน หวังทำให้การทำธุรกรรมไร้เงินสดเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 120 ล้านล้านเยน (ราว 34 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2567 นายมาซามิจิ อิโตะ ผู้อำนวยการสำนักงานชี้ว่า หากสามารถเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินก็จะสามารถเปลี่ยนสังคมได้ทั้งหมด
ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางเงินในญี่ปุ่นยังเป็นเงินสดถึงร้อยละ 80 สูงที่สุดในโลกพัฒนาแล้วรองจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต และผ่านสมาร์ทโฟน สาเหตุหลักเพราะญี่ปุ่นมีการก่ออาชญากรรมต่ำ ประชาชนจึงสบายใจที่จะพกเงินสด ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ไม่สะดวกที่ทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด เทียบกับอินเดียและจีน สองประเทศที่มีผู้จับจ่ายคึกคักที่สุดในโลก สัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 30-35 นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีตู้ขายของและอาหารอัตโนมัติซึ่งต้องใช้เงินสดอยู่ทั่วประเทศ การเปลี่ยนในช่วงข้ามคืนจึงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยโนมูระเผยว่า การชำระเงินแบบไร้เงินสดในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ต่อคน สูงกว่าการใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปีในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่า การทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง เช่น การขาดแคลนแรงงาน ธนาคารมีกำไรน้อยเพราะต้นทุนสูง พนักงานเคาน์เตอร์ใช้เวลานับเงินสดวันละกว่าสองชั่วโมง ขณะที่การขนเงินสดไปยังสาขาและตู้เอทีเอ็มมีค่าจ่ายถึงปีละ 1 ล้านล้านเยน (ราว 284,000 ล้านบาท).- สำนักข่าวไทย