กรุงเทพฯ 17 มิ.ย. – สนข.ศึกษาความเป็นไปได้พัฒนาทางหลวงสายเดิมเป็นทางมอเตอร์เวย์ หวังลดภาระตัดถนนมอเตอร์เวย์สายใหม่ ตามแผนแม่บทเดิมที่สูงถึง 2 ล้านล้านบาท พร้อมเสนอกระทรวงคมนาคมนำร่อง 2 เส้นทางปีนี้
นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตามแผนแม่บทของกรมทางหลวง โดยแผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 21 สายทาง 56 ตอน ระยะทางรวม 6,612 กิโลเมตร ซึ่งการลงทุนตามแผนแม่บทดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 2.14 ล้านล้านบาท การลงทุนตามแผนแม่บทแนวเส้นทางส่วนใหญ่เป็นการตัดแนวเส้นทางใหม่ต้องเวนคืนที่ดินค่อนข้างมาก รัฐต้องใช้งบประมาณการลงทุนสูงอาจจะทำให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐ ดังนั้น สนข.จึงศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิมให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม การเงิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบเบื้องต้น เพื่อผลักดันการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนแม่บทฯ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับแนวเส้นทางถนนหลวงที่มีศักยภาพเพียงพอยกระดับเป็นมอเตอร์เวย์ ต้องมีพื้นที่เขตทางไม่น้อยกว่า 50 -60 เมตร มีสภาพกายภาพเหมาะสมในการพัฒนาและก่อสร้าง โดยพบว่าแนวเส้นทางของทางหลวงสายหลักปัจจุบันที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมี 7 สายทาง 17 ตอน ระยะทางรวม 2,796 กิโลเมตร รวมทั้งผลจากการออกแบบเบื้องต้นของการพัฒนาทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีเส้นทางนำร่อง เช่น สาย M71 Section 1 ตอน กรุงเทพฯ-สระแก้ว และ M5 Section 3 ตอน นครสวรรค์-พิษณุโลก โดยการดำเนินการจะประมาณมูลค่าลงทุนในการพัฒนาก่อสร้างก่อน เพื่อให้ทราบวงเงินงบประมาณ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์และประมาณมูลค่าของโครงการจากต้นทุนค่าเวนคืนที่ดินที่จะลดลง และเป็นปัจจัยหลักสำคัญของโครงการที่ทำให้ค่าลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51.9 หรือการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าจะสามารถลดงบประมาณการลงทุนของโครงการตามแผนแม่บทลงได้ประมาณ 8.4%
“สนข.มั่นใจว่าการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าวจะช่วยลดภาระงบประมาณโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินใช้ก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถลดภาระงบประมาณถึง 50% โดย สนข.จะดำเนินการสรุปผลศึกษา เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบภายในปี 2562“ นายชยธรรม์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย