สศช.30 พ.ค.- รองนายกรัฐมนตรี”สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”มอบนโยบายสศช.
หาช่องทางขยับ อันดับศักยภาพในการแข่งขันประเทศไทยดีขึ้นต่ำกว่าอันดับ 20 ในปี 2563
เดินหน้าปรับแผนดันเศรษฐกิจชุมชน สร้างการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว ผลักดันเครือข่าย 5
จี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หลังจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยจาก
IMD ประจำปี 2562
ประเทศไทยอันดับสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับ 25 ว่า รัฐบาลต้องการให้รักษาระดับความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น
โดยเฉพาะไทยได้แซงเกาหลีใต้ซึ่งอยู่อันดับ 26 แต่ยอมรับว่าทุกประเทศมีปัญหาการส่งออกเหมือนกันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ขณะที่ปัญหา ICAO ให้ใบแดงเรื่องการบินและปัญหา IUU ในช่วงที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาจนต่างชาติให้การยอมรับ
จึงคาดหวังว่าหากเร่งรัดปฏิรูปหลายด้าน ความสามารถในการแข่งขันของไทยต้องอยู่ต่ำกว่าอันดับ
20 ในปี 2563 ได้
นายสมคิด กล่าวว่า ต้องใช้โอกาสส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
หลังคาดว่าการลงทุนมีโอกาสขยายตัวเพิ่มจากร้อยละ 3.9 เป็นร้อยละ 4.5
การลงทุนภาครัฐมีโอกาสไปได้สูงมาก จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อผลักดันให้ขีดความสามารถแข่งขันขยับสูงขึ้นได้
และต้องการให้สศช.ปรับโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กว้างมากขึ้นเพื่อส่งเสริมไปยังกลุ่มภาคเกษตรและการท่องเที่ยว
เมื่อเร่งแก้ปัญหาทุกด้านครอบคลุม
ยังเชื่อมั่นว่าไทยจะแข่งขันกับสิงคโปร์ได้หลายด้าน
โดยต้องการให้ประชุมหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยากให้ช่วยกันประคับประคอง
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้าน
ส่งเสริมการค้าชายแดน ผลักดันการท่องเที่ยว
เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ เส้นทางคมนาคมครอบคลุม
จะทำให้การเดินทางของคนไทยและต่างชาติ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวปลายทางในเมืองรองและเมืองหลักได้คล่องตัวขึ้น
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะเวียดนามได้พัฒนาไปเร็วมาก
เมื่ออำนาจซื้อส่วนใหญ่เป็นของรายย่อย จึงต้องหาทางส่งเสริม
เพิ่มอำนาจซื้อให้กับรายย่อยในต่างจังหวัด ผ่านการสร้างเศรษฐกิจชุมชน
ต้องหาทางส่งเสริมให้ชาวบ้าน ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น
เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้เศรษฐกิจชุมชนเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับในยุคนี้คงยากขึ้น
จึงขอให้ สศช.เป็นเสาหลักสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ
ต้องส่งสัญญาณให้รัฐบาลต้องรับฟังการทำนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลยังต้องการเร่งรัดพัฒนาบุคลากรคุณภาพ
รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC ) ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาบุคลากรใน
10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย กำชับกระทรวงต่าง ๆ เสนอของบประมาณลงทุนต้องคัดเลือกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
ต้องพิจารณาตรวจสอบการลงทุนให้รอบคอบ เพื่อคานอำนาจการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ
สำหรับการติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐในทุกชุมชน ต้องผลักดันให้สุดทางเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
รองรับการค้า ค้นคว้าหาความรู้ การใช้อินเทอร์เน็ตอำนวยความสะดวกทุกด้าน การผลักดันใช้อินเทอร์เน็ต
มีความสำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นับเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหลายประเทศปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว
จีนได้ประกาศเปลี่ยนประเทศไปสู่ 5 จี
ไทยจึงต้องเร่งรัดขับเคลื่อนทุกด้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
โดยเฉพาะเครือข่าย 5 จี
เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า การสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคให้มีมูลค่าเพิ่ม
พัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าทางการตลาด ต้องสื่อสารกับทุกหน่วยงานไปสู่ภาคปฏิบัติ
ทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง สำหรับการปรับประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 4
อันดับ
เมื่อได้เร่งแก้ไขปรับกฎระเบียบให้ทันสมัยคล่องตัว ต้องเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่ออำนวยความสะดวกกับธุรกิจและส่งเสริมการใช้ดิจิทัลรองรับให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและวงกว้าง
เพราะเศรษฐกิจยุคใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับ AI การวางนโยบายเศรษฐกิจจากคนรุ่นใหม่ทำงานอยู่ในต่างประเทศที่มีความรู้จึงอยากกลับมาช่วยบริหารประเทศ
สำหรับการแก้ปัญหาความยากจน เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้มากขึ้น เกิดความร่วมมือแบบประชารัฐได้มากขึ้น
เมื่อทุกส่วนร่วมกันจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนคืบหน้าไปมาก.- สำนักข่าวไทย