กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – สภาพัฒน์ ปรับลดจีดีพี ปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5-3 แนะเร่งอัดฉีดเงินงบประมาณปี 67 ไปพลางก่อน หลังตั้งรัฐบาลล่าช้า แนะอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวยุโรป อินเดีย เกาะติดเศรษฐกิจจีนมีปัญหา หวั่นปัญหาหนี้ครัวเรือน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5-3 จากเดิมขยายตัว 2.7-3.7 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ามีปัญหาจากการจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบการส่งออกติดลบติดต่อกันหลายเดือน ดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก ยังคงอยู่ในระดับสูง มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.8 การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 5 การบริโภคภาครัฐติดลบร้อยละ -3.1 การลงทุนรวมจะและร้อยละ 1.6 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.2 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP
4 หน่วยงานจัดทำงบประมาณ ประกอบด้วย คลัง สภาพัฒน์ ธปท. สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอ ครม. เห็นชอบปฏิทินการเบิกจ่ายงบพลางไปก่อน ทั้งงบประจำ ส่วนงบลงทุนคาดจะออกสู่ระบบได้ใน และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายตามปีปฏิทินถึงสิ้นปีนี้ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจลงทุนตามปีงบประมาณอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายเงินลงทุนออกไปในช่วงเดือนเมษายนปี 67 ในส่วนของกระทรวงการคลัง เร่งหาแหล่งเงินทุนใหม่รองรับโครงการงบผูกพันต่อเนื่องของรัฐวิสหากิจ ในส่วนของบอร์ดสภาพัฒน์ได้เห็นชอบโครงการลงทุนผูกพัน รอเสนอครม.พิจารณาอัดเงินออกสู่ระบบ 1 แสนล้านบาท
ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติรอดูความชัดเจนจัดตั้งรัฐบาล หลังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 22 สิงหาคม แนะดูแลปัญหาภัยแล้ง ฟื้นโครงการประกันภัยพืชผล เพื่อลดต้นทุนและดูแลภัยพิบัติให้เกษตรกร การเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ทั้งค้าขายชายแดน ประเทศตะวันออกกลาง เร่งอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยว ทั้งยุโรป อินเดีย ทดแทนนักท่องเที่ยวจีน เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ยอมรับภาระหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 90.06 ของจีดีพียังเป็นห่วง รัฐบาลชุดใหม่ต้องหามาตรการมาดูแล เพราะการบริโภคภายในประเทศ ยังเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยจีดีพีไตรมาส 2/2566 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่ำกว่าคาดการณ์ การส่งออกหดตัวร้อยละ 5.8 นับว่าหดตัวต่อเนื่องหลายเดือน เงินโอนจากภาครัฐช่วยเหลือช่วงโควิดหมดไป จึงกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน ภาพรวมการลงทุนขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 3.1 การส่งออกครึ่งปีแรกติดลบร้อยละ 5.0 การทำรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.8 แสนล้านบาท.-สำนักข่าวไทย