รร.มิราเคิลแกรนด์ 24 พ.ค.-กอปศ.ครบ 2 ปี จัดทำ 3 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ-กองทุนเพื่อความเสมอภาคลดความเหลื่อมล้ำ-พ.ร.บ.ดูเเลเด็กปฐมวัย ฝากรัฐบาลใหม่สานต่อเเละตระหนักที่ต้นตอปัญหาที่ กอปศ.เสนอ ส่วนกรณีกพฐ.เดินยุบรวม รร.ขนาดเล็ก มองแก้ปัญหาคุณภาพโรงเรียน ต้องคำนึงความหลากหลายของบริบทพื้นที่ด้วย
ศ.กิตติคุณนพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เป็นประธานเเถลงผลงาน “กอปศ. รายงานประชาชน 2 ปี ปฏิรูปการศึกษา ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน” ว่า การปฏิรูปครั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างขีดความสามารถในการเเข่งขันเเละทำให้ระบบการศึกษาไทยมีประสิทธิภาพเเละมีธรรมาภิบาล โดยสิ่งที่คณะกรรมการได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนจะหมดวาระตามกฎหมายในสัปดาห์หน้า คือ การทำให้เกิดพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ เเละผลงานต่างๆเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาเเห่งชาติพร้อมเสนอเเผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาซึ่งได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว/พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดได้รับเงินจากกองทุนเรียบร้อยเเล้ว
พระราชบัญญัติเพื่อดูเเลเด็กเล็กเเละเด็กปฐมวัยเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา เเละการทำให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องการพัฒนาการศึกษาในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละ พื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเเห่งชาติฉบับใหม่ซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาลแล้ว รวมถึงได้ทำรายงานฉบับประชาชนให้ได้รับทราบถึงปัญหาการศึกษาเเละเเนวทางการแก้ปัญหาที่คณะกรรมการได้วิเคราะห์
ส่วนโจทย์ใหญ่ที่จะฝากต่อให้รัฐบาลหน้า ได้รู้เเละตระหนักถึงต้นตอปัญหาที่กอปศ.เสนอ ได้แก่ ปัญหาการศึกษาที่ยังน่าห่วง ได้แก่ คุณภาพการศึกษาต่ำไม่ได้มาตรฐานจากเกณฑ์ภายในประเทศ หลักสูตรเน้นท่องจำ ผลการสอบของนักเรียนทั้งระดับชั้นป.3 ป.6 ม.3เเละม.6 ส่วนใหญ่สอบตก ขณะเดียวกันผลการสอบ PISA เเละTIMSS ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับเป็นเเรงงานไร้ฝีมือ เช่นเดียวจากการอาชีวศึกษาที่ไม่มีทักษะเพียงพอ ไม่ต่างจากการศึกษาในอุดมศึกษาไทย ที่สู้อุดมศึกษาของโลกไม่ได้ เเละมีการถดถอยลงเรื่อยๆ ยังส่งผลต่อการบริหารการจัดการงบประมาณที่รัฐที่งบจำนวนมากให้กับกระทรวงศึกษาเเต่คุณภาพไม่ได้เพิ่มตาม , ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา มีเด็กไทยกว่า 4 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา/และปัญหาใหญ่อยู่ที่หลักคิดเเละค่านิยมของสังคม ที่นิยมปริญญามากกว่าความสามารถของคนจริง เเละการคิดว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐทั้งหมด เเม้เป็นหน้าที่ เเต่ทุกภาคของสังคมหรือเอกชนก็ต้องมาช่วยกันพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนการศึกษาในปัจจุบันเป็นการศึกษาตลอดชีวิต รวมถึงการปรับตัวดิจิทัล , การเรียนการสอนไม่ได้วัดที่ผลสัมฤทธิ์เเต่ต้องวัดว่าเด็กได้เรียนรู้อะไร
ส่วนกรณีบอร์ดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเตรียมศึกษากฎหมายเเละข้อระเบียบเพื่อควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 15,000 โรงทั่วประเทศ พร้อมให้โรงเรียนขยายโอกาสหยุดรับนักเรียนม.ต้น กรณีเด็กน้อย แลพอให้โรงเรียนใกล้เคียงรองรับเด็กที่มีอยู่นั้น ตนมองว่า โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณภาพต่ำก็ต้องปรับเเก้ให้เหมาะกับพื้นที่ เเต่การพัฒนาปัจจุบัน เป็นการบริหารความเหมือน คือพัฒนาทุกที่เหมือนกัน ทั้งๆที่บริบทต่างกัน จึงควรเปลี่ยนมาบริหารความหลากหลายเเทน.-สำนักข่าวไทย