แอตแลนตา 21 พ.ค.- นักวิเคราะห์มองกรณีที่เศรษฐีอเมริกันคนหนึ่งประกาศปลดหนี้ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,275 ล้านบาท) ให้นักเรียนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาของวิทยาลัยแห่งหนึ่งในรัฐจอร์เจียของสหรัฐ สะท้อนถึงวิกฤตหนี้การศึกษาที่เยาวชนอเมริกันกำลังแบกรับอยู่ทั้งประเทศ
นายโรเบิร์ต เอฟ สมิธ นักลงทุนด้านเทคโนโลยีที่นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับเมื่อปีก่อนให้เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่รวยที่สุดในโลกและเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 480 ของโลก ประกาศปลดหนี้ให้นักเรียนเกือบ 400 คนที่สำเร็จการศึกษาจากมอร์เฮาส์คอลเลจ วิทยาลัยเอกชนชายล้วนในเมืองแอตแลนตาในพิธีสำเร็จการศึกษาเมื่อวันอาทิตย์ ทำให้เด็กเหล่านี้สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยโดยปลอดหนี้การศึกษา นักเรียนวัย 21 ปีคนหนึ่งเคยคำนวณว่า เขาต้องใช้เวลานานถึง 25 ปีกว่าจะคืนหนี้การศึกษา 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.37 ล้านบาท) จนหมด
กลุ่มสิทธินักเรียนและผู้บริโภคในสหรัฐระบุว่า กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตหนี้การศึกษาที่เยาวชนอเมริกันทั่วประเทศแบกรับรวมกันเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 47.82 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นสองเท่าจากสิบปีก่อนตามข้อมูลของธนาคารกลางหรือเฟด สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ชาวอเมริกัน 43 ล้านเป็นหนี้การศึกษา ยอดหนี้ขณะสำเร็จการศึกษาเฉลี่ยที่ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 956,265 บาท) ต่อคน เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 318,755 บาท) ต่อคนช่วงต้นคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 และคาดว่าภายในปี 2565 หนี้การศึกษาจะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 63.75 ล้านล้านบาท) กระทรวงการศึกษาสหรัฐระบุว่า หนี้ร้อยละ 92 กู้ยืมจากรัฐบาลกลาง ที่เหลือกู้ยืมจากเอกชน รวมถึงธนาคาร
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้หนี้การศึกษาเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือระยะเวลาใช้หนี้ยาวนาน และวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไรมีมากขึ้น สถาบันบรุกกิงส์ออกรายงานเมื่อปีก่อนว่า ผู้กู้เงินเพื่อการศึกษาเกือบร้อยละ 40 มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ภายในปี 2566 ส่งผลให้ตกหลุมการเงินลึกกว่าเดิมเพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถขอสินเชื่ออื่น ๆ ได้อีก ประเด็นหนี้การศึกษาได้กลายเป็นประเด็นหลักอย่างหนึ่งของผู้สมัครชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 หลายคนสนับสนุนข้อเสนอของ ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์สเรื่องยกเว้นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ ลดดอกเบี้ยหนี้การศึกษาและให้มีการรีไฟแนนซ์หนี้การศึกษา.- สำนักข่าวไทย