ซูเปอร์โพล12 พ.ค..-สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองปัจจุบัน กับ ความสุขของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุ การเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองปัจจุบัน กับ ความสุขของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,295 ตัวอย่าง ระหว่าง วันที่ 1 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุ การเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุไม่ทำลาย และที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 42.6 ระบุ ระดับความขัดแย้งทางการเมืองเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 17.9 ระบุลดลง
เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชาย ร้อยละ 43.9 มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นหญิง ร้อยละ 41.5 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 58.1 ระบุความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 มากกว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มวัยอื่นคือ วัยกลางคนร้อยละ 35.0 และคนสูงวัยร้อยละ 47.2 ที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะตัดสินใจอะไรบางอย่างที่บริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนได้ดีโดยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เพราะมาตรการกดความรู้สึกอัดอั้นของสาธารณชนจนไม่มีช่องระบายอาจส่งผลทำให้ความขัดแย้งที่เปลือกของประชาธิปไตยลุกลามไปถึงแก่นความมั่นคงได้และจะเหนื่อยกันจนยากจะควบคุม ทางออกคือ เลือกทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งน้อยที่สุดและไม่มองมวลหมู่ประชาชนแบบเหมารวมแต่ควรแก้ไขเป็นราย ๆ ไปเพราะในกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินนั้นอาจจะพบคนที่รักชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักของชาติมากกว่าฝ่ายการเมืองกลุ่มหนุน Status Quo อีกด้วย มันจึงไม่ใช่อยู่ที่เสื้อสีกีฬาการเมืองที่เลือกข้างแต่อยู่ที่ความถูกต้องชอบธรรมทางการเมือง-.-สำนักข่าวไทย