ปัตตานี 23 ส.ค. – หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย นักวิชาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับว่า คำสั่งทำให้คลายความกังวลที่อาจมีกลุ่มคนใช้ช่องว่างของกฎหมายสร้างความขัดแย้งทางศาสนา
คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆในประเทศไทย มีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนา พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและเผยแผ่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดมาตรการส่งเสริมความเข้าใจอันดีของศาสนิกชนทุกศาสนาและวางกลไกป้องกันไม่ให้มีการบ่อนทำลายทุกศาสนาในประเทศไทย โดยให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกรมศาสนาเสนอต่อ ครม.ภายใน 3 เดือนนี้ และรายงานความคืบหน้าทุกสามเดือน
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความกังวลต่อมาตรา 67 ว่าศาสนาอิสลามอาจจะไม่ได้รับการส่งเสริมและคุ้มครอง แต่หลัง คสช.ออกคำสั่งประกาศให้อุปถัมภ์คุ้มครองทุกศาสนาในประเทศไทยทำให้ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่มีความรู้สึกพึงพอใจ
ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน จ.ปัตตานี บอกว่าประชาชนชาวไทยมุสลิมมีความกังวลต่อมาตรา 31 และ 67 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา หากเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แล้วเห็นว่าสิทธิทางศาสนาหลายประการหายไป แต่ได้ให้ความสำคัญต่อศาสนาพุทธเถรวาท ซึ่งมองว่าเป็นการแบ่งแยกทางศาสนาครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 มีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนา ทำให้รู้สึกพึงพอใจ คลายความกังวลว่าอาจมีกลุ่มคนใช้ช่องว่างของกฎหมายสร้างความขัดแย้งทางศาสนา และสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลฟังเสียงของประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลงประชามติไม่รับร่าง รธน.เพราะกังวลต่อกฎหมายดังกล่าว
สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติศึกษามองว่ามาตรา 67 ไม่มีความชัดเจนด้านความหลากหลายทางศาสนา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเจตนาของรัฐในการรักษาความหลากหลายทางความเชื่อ เป็นผลให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่มองว่ารัฐละเลยต่อความหลากหลายทางศาสนา ซึ่งคำสั่ง คสช.ที่ได้ประกาศล่าสุดเป็นการขยายความในมาตราดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ารัฐมีหน้าที่ส่งเสริมทุกศาสนา ไม่เพียงแต่ศาสนาพุทธเถรวาทเพียงศาสนาเดียว
ทั้งนี้ คำสั่ง คสช.ดังกล่าวประกาศขึ้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และการป้องกันการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ. – สำนักข่าวไทย