กรุงปักกิ่ง 27 เม.ย. 62 -นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์การประชุมโต๊ะกลม ชื่นชมพัฒนาการ BRI ผลักดันนโยบายความเชื่อมโยงสู่การพัฒนายั่งยืน
“จิตตานันท์ นิกรยานนท์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ครั้งที่ 2 ที่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน รายงานว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมโต๊ะกลมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF Leader’s Roundtable) ภายใต้หัวข้อ “ส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อแสวงหาช่องทางใหม่สำหรับการเติบโต” (Boosting Connectivity to Explore New Sources of Growth) ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติทะเลสาบเยี่ยนซี โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประชาชนชาวจีนในโอกาสครบรอบ 70 ปี แห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้ พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ริเริ่มยุทธศาสตร์ BRI ซึ่งไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จะช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและโลก ส่งเสริมการเชื่อมโยง การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าโลก ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี แสดงความประทับใจที่ BRI มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้าร่วมสนับสนุนจำนวนมาก และมีความครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนา ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมนั้นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสามารถเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก เพื่อขยายความครอบคลุมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปให้ได้ประโยชน์สูงสุด
“ไทยให้ความสำคัญกับการขยายความเชื่อมโยงของอาเซียนกับภูมิภาคและโลก ทั้งทางกายภาพ กฎระเบียบ ดิจิทัล และประชาชน ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้ง GMS ACMECS MLC IMT-GT BIMSTEC และ APEC ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินการเพื่อยกระดับความเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในประเทศและเชื่อมกับภูมิภาคและโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน ทั้ง NSEC และ EWEC ที่จะเชื่อมโยงอาเซียนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านโครงการ BRI รวมทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแม่แบบในการสร้างฐานเพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงทั้งทางบก อากาศ น้ำและทางราง ในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ประกอบด้วยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลัก (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)โครงการพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย-กัมพูชา และโครงการระบบขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด ในการประชุมครั้งนี้มีการลงนามโครงการความเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งก็จะสนับสนุน BRI ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักของ BRI ในการสร้างการเจริญเติบโตและขยายศักยภาพของประเทศที่มีส่วนร่วมนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประการแรก ควรส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันและขยายตลาดให้ภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจ ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงระหว่างกรอบต่างๆ ในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะ ACMECS กับ MLC GMS และ Greater Bay Area หรือ GBA และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทยในการขยายตลาดได้ โดยสนับสนุนจีนและวิสัยทัศน์ของ BRI อย่างเต็มที่ในการผลักดันความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนแบบ Public-Private Partnership (PPP) โดยเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อเกิดความสมบูรณ์โดยเร็วและอย่างเป็นรูปธรรม
“ประการที่สองการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และการประกอบธุรกิจระหว่างกัน โดยสร้างความเชื่อมโยงทางสถาบันและกฎระเบียบ ด้วยการขับเคลื่อนให้แผนแม่บทอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยง 2025 และแผนแม่บท ACMECS 2019-2025 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเร่งรัดการเจรจาในกรอบ RCEP ให้สามารถได้ข้อสรุปภายในปีนี้ การจัดตั้งแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนจะช่วยสนับสนุนโครงการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวคิดของสมาชิก ACMECS ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BRI โดยขอแสดงความชื่นชมจีนที่เป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และกองทุน Silk Road Fund สำหรับความร่วมมือใน ACMECS นั้น กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง ACMECS Fund จึงขอเชิญจีนและมิตรประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาด้วยกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประการสุดท้าย ผลประโยชน์ของการเชื่อมโยงจะต้องตกอยู่กับพลเมืองมากที่สุด จึงควรเน้นการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าทุกประเทศจะสามารถร่วมมือกันส่งเสริมความเชื่อมโยงตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ BRI เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่งคั่งและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อภูมิภาคและต่อโลกต่อไป.-สำนักข่าวไทย