สำนักข่าวไทย 15 เม.ย..-รองโฆษกอัยการสูงสุด เผย ควรเพิ่มบทลงโทษเมาแล้วขับให้หนักขึ้น หวังคนเกรงกลัวกฏหมาย ไม่กล้ากระทำผิด ต้องเร่งรณรงค์ ดื่มแล้วไม่ขับ ไม่ใช่แค่ เมาแล้วไม่ขับ
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณี พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาคือ เสี่ยเบนซ์ ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส ทรัพย์สินเสียหาย จากกรณีขับรถชนครอบครัวตำรวจ บนถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก เมื่อ 12 เมษายนที่ผ่านมา ว่า การเมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นประสบอุบัติเหตุไปด้วยและถึงแก่ชีวิต อาจต้องพิจารณาเพิ่มอัตราโทษที่สูงขึ้น อัตราโทษจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้คนเกรงกลัวกฏหมาย ทำให้กฏหมายมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้คนในสังคมตระหนักรู้ เมื่อดื่มแล้วต้องไม่ขับ ต้องรณรงค์ถึงขั้นดื่มไม่ขับกันเลย ไม่ใช่รณรงค์เพียงแค่เมาแล้วไม่ขับเท่านั้น ทำอย่างไรให้คนระมัดระวังมากขึ้น หากขับรถระหว่างเมา ทำให้คนอื่นได้รับอันตรายภาครัฐต้องช่วยกันดูแล ป้องกัน เช่นในต่างประเทศ อย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ หากพกปืน โทษถึงประหารชีวิต คนจะรู้ว่าโทษร้ายแรงมาก จึงกลัวมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนที่หลายกระแสเสนอว่า น่าจะเพิ่มโทษเมาแล้วขับให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษเท่ากับเจตนาฆ่า หากโทษไม่หนัก คนมีฐานะมีความสามารถในการจ่ายค่าปรับ ตนจึงมองบทลงโทษหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยและควรนำกลับมาใช้อีกคือ การให้ไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ดูแลคนป่วยที่โรงพยาบาลดูและเหยื่อที่เกิดจากการเมาแล้วขับ จุดนั้นเป็นมาตรการที่คนเกรงกลัว นอกจากจำคุก และโทษปรับที่สูงแล้ว จำเป็นต้องควบคู่กับการ คุมประพฤติสาธารณะประโยชน์ด้วย เพราะที่ผานมาคนผิดกลัวข้อนี้มาก
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด มองว่า การเพิ่มโทษจะทำให้คนในสังคมตื่นรู้และตระหนักรู้มากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น มีสติและเกรงกลัวมากขึ้น เป็นส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายด้วย ล่าสุด ที่ประเทศใต้หวัน กำลังจะมีการเพิ่มโทษเรื่องเมาแล้วขับ เอาจริงถึงขั้นประหารชีวิต เพียงรอสภาพิจารณา ส่วนที่จีน หากดื่มแล้วขับ จับติดคุกทันที โดยขั้นตอนแก้กฏหมายหน่วยงานต่างๆสามารถร่วมกันเสนอ และผลักดัน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่ดูแลเรื่องเมาแล้วขับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงงานอัยการสูงสุด หากพิจารณาเห็นว่ากฏหมายเมาแล้วขับสมควรแก้ไข สามารถเสนอผ่านกระทรวงยุติธรรม ผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาของสภา เพื่อยกร่างกฏหมาย หรือแก้ไขกฏหมาย ซึ่งกฏหมายเมาแล้วขับ มีอยู่แล้ว เพียงแต่หากอัตราโทษในพ.ร.บ.จราจร เรื่องเมาแล้วขับยังต่ำไป ต้องแก้ให้สูงขึ้น โทษเมาแล้วขับอัตราสูงสุด หากถึงแก่ความตาย จำคุก3-10ปี ปรับ6หมื่น-2แสนบาท รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาติขับขี่ ,เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นอันตรายสาหัส โทษจำคุก2-6ปี ,เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางร่างกายและจิตใจ บาดเจ็บแต่ไม่ถึงสาหัส โทษจำคุก1-5ปี ต่ำลงมาตามลำดับ
กรณีที่นักสิทธิมนุษยชนออกมาคัดค้านโทษประหารชีวิต นั้น ตนมองว่า มีการถกเถียงมาโดยตลอด คิดว่าการถกเถียงกันเป็นเรื่องทางวิชาการและทางความคิด คนที่จะตัดสินว่า ควรเพิ่มโทษประหารชีวิตหรือไม่คงเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ต้องดูสถานการณ์การกระทำควาผิดและปัญหาของสังคม การกำหนดอัตราโทษสูงๆ เพื่อให้คนเกรงกลัวกฏหมาย และต้องทำให้กฏหมายมีประสิทธิภาพ หากกฏหมายไม่มีประสิทธิภาพการบังคับใช้ก็ไม่เกิดและคนจะไม่เกรงกลัว หากจะวางโทษให้สูงขึ้นต้องมาพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งโทษประหารชีวิตในประเทศไทย คือประเภทข้อหาฆ่า และฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
สำหรับกรณีเสี่ยเบนซ์ พนักงานสอบสวนคงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนก่อน เนื่องจากกระบวนการสอบสวนต้องสอบพยานทั้ง2ฝ่าย เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายต่อสู้คดี คงต้องใช้เวลา และรวบรวมหลักฐาน ถึงจะเข้าสู่ข้อกล่าวหาที่สมบูรณ์ ส่วนการที่นายสมชาย บอกว่าจะอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้ผู้ตาย คือการแสดงความรับผิดชอบในทางกฏหมาย เวลามีคดีความ ศาลจะดูว่ามีความรับผิดชอบหรือไม่ เป็นเหตุให้มีการลดหย่อนโทษได้ หรือเป็นเหตุบรรเทาโทษ หากครอบครัวผู้สูญเสียต้องการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร สำนักงานอัยการสูงสุดพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ โดยมีหน่วยงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฏหมาย ทั้งบันทึกข้อตกลง สัญญาประณีประนอม การชดใช้ความเสียหายให้เด็กที่ต้องขาดไร้อุปการะ พร้อมฝากเตือนเป็นอุทาหรณ์ว่า หากดื่มอย่าขับ จนเกิดเหตุร้ายตามมา เมื่อเกิดเหตุมาแล้วเสียใจทุกฝ่าย เชื่อว่าคนที่เมาแล้วขับทุกคนคงไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย